4 ก.ค. 68 - ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษผู้เข้าอบรมสถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 23 ย้ำประชาธิปไตยมั่นคง จะส่งผลเศรษฐกิจยั่งยืน มองรัฐประหารกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

image

            นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการบริหารเศรษฐกิจไทยเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ต่อผู้เข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 23 จำนวน 120 คน จากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนำโดย รศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ประธานกรรมการหลักสูตร ในโอกาสศึกษาดูงาน ณ อาคารรัฐสภา

            ในตอนหนึ่งของปาฐกถา ประธานรัฐสภากล่าวว่า หากประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่นคงตามไปด้วย เพราะเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความมั่นใจของนักลงทุน และความเชื่อมั่นนั้นต้องอยู่บนฐานของระบบที่มีหลักประกันทางการเมือง หากเกิดการรัฐประหาร หรือการฉีกรัฐธรรมนูญ จะส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุน พร้อมย้ำถึงโครงสร้างประชาธิปไตยไทย ว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน กลั่นกรองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยมีเสาหลัก 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งมีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจกัน สำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งสภายังมีบทบาทในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นต้นน้ำของระบบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีเสาเสริมคือ องค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณสมบัติของรัฐมนตรี หรือการตรวจสอบทุจริตจากงบประมาณของรัฐ

            ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงบทบาทของรัฐสภาในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหน้าที่ในการออกกฎหมาย เช่น กฎหมายการลงทุน กฎหมายภาษีอากร ตลอดจนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งงบประมาณปี 2569 มีวงเงินสูงถึง 3.78 ล้านล้านบาท ที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน เพื่อเริ่มใช้งานในเดือนตุลาคมนี้ ย้ำว่าหากการพิจารณางบประมาณไม่โปร่งใส นักลงทุนจะไม่กล้าลงทุน เศรษฐกิจจะชะงัก และยังมีบทบาทในการติดตามการใช้งบฯ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การตั้งกระทู้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และกลไกคณะกรรมาธิการ

            สำหรับหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เชิงประยุกต์ ให้กับผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ เพื่อเข้าใจโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจกับนโยบายสาธารณะ ตลอดจนผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างรอบด้าน

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ