4 ก.ค.68-สนง.สผ.-สนง.สว. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา “ก้าวสู่ศตวรรษแห่งประสิทธิภาพรัฐสภาไทย” หวังยกระดับความเข้มแข็งของรัฐสภารับมือระเบียบโลกใหม่ ด้านอดีตรองเลขาธิการ สมช. ชี้สงครามยุคใหม่ไม่ได้วัดกันที่กำลังทหาร แต่สู้กันด้วย “เทคโนโลยีชิปเซ็ต-ความมั่นคงด้านอาหาร” ยืนยันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง คือ เกราะป้องกันความขัดแย้งที่ดีที่สุด

image

        สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสถาบันพระปกเกล้า จัดโครงการสัมมนาวิชาการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันนิติบัญญัติ เรื่อง “ก้าวสู่ศตวรรษแห่งประสิทธิภาพรัฐสภาไทย” โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น 1 อาคารรัฐสภา

        รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า รัฐสภาเป็นหนึ่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่มีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด ได้รับอาณัติมอบหมายให้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ประเด็นที่ท้าทายของรัฐสภาไทย คือ การแสดงบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเผชิญกับปัญหาความอ่อนแอและวิกฤติความเชื่อมั่นมาตลอด 93 ปี ดังนั้น สถาบันพระปกเกล้าในฐานะสถาบันวิชาการภายใต้กำกับของประธานรัฐสภา มีพันธกิจหลักในการเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจัดโครงการสัมมนาวิชาการฯ นี้ขึ้น โดยวิธีเดียวที่จะทำให้รัฐสภาไทยมีประสิทธิภาพได้ คือ การทำให้ทุกคนมีโอกาสในการร่วมคิด แลกเปลี่ยน และเสนอแนะอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และขอขอบคุณวิทยากรที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนแง่มุมทางวิชาการอันทรงคุณค่า ตนเชื่อว่าทัศนะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของรัฐสภา และได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในสังคม

        พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง Climate และ Conflict สอง C ที่ควรตระหนักรู้และการรับมือโดยรัฐสภา ว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันด้านการเมืองและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกัมพูชา นั้น การเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากทางการกัมพูชาไม่ยอมเจรจาในบางเรื่อง แต่สิ่งชี้ชัดว่าสมรภูมิโลกได้เปลี่ยนจากสงครามรูปแบบเดิมไปสู่การแข่งขันทางเทคโนโลยีและทรัพยากรอย่างเต็มรูปแบบ โดยมี “ชิปเซ็ต” และ “อาหาร” เป็นหัวใจสำคัญในการชี้ขาดผู้ชนะ

        พลโท ดร.พงศธร กล่าวว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างยุโรปและอเมริกากำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดผ่านเทคโนโลยีชิปเซ็ต ซึ่งเป็นสมองของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงระบบอาวุธที่แม่นยำ ทำให้กองทัพยูเครนที่ใช้การยิงแบบนำวิถีสามารถต่อสู้กับรัสเซียซึ่งมีกองทัพที่ใหญ่กว่าได้ สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยี คือ ตัวเปลี่ยนเกม ขณะที่ประเทศที่ยึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ และไม่ยอมปรับตัวทางเทคโนโลยีจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ โลกกำลังเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมกลับสู่ยุคเกษตรกรรมอีกครั้ง เนื่องจากอาหารและพลังงานคือสิ่งที่โลกกำลังขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเกษตร คือ สิ่งที่เคยเปลี่ยนโลกมาแล้วในอดีต และกำลังจะกลับมามีความสำคัญสูงสุดอีกครั้ง

        พลโท ดร.พงศธร กล่าวถึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกรณี ไทย-กัมพูชา ว่า ไทยมีศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อสร้างความเข้าใจ แทนที่จะปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมองว่าสหรัฐฯ และจีนต่างมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ซึ่งไทยต้องวางตัวอย่างชาญฉลาด พร้อมย้ำว่า ต้นตอของสงครามมักเกิดจาก “ผู้นำที่ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งนิยมการสร้างความขัดแย้งและแบ่งฝักฝ่าย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งความเชื่อว่า “พวกเราดีกว่า” ล้วนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และระบอบประชาธิปไตยที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้นำทำเรื่องไร้สาระได้ เพราะอำนาจถูกตรวจสอบถ่วงดุล

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ