นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำสัญญากรมธรรม์ประกันสุขภาพแบบ Co-payment การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลระหว่างผู้ทำประกันและบริษัทประกัน โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ มีนาคม 2568 เพื่อแก้ปัญหาค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ได้แก่ สมาคมประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนพบว่า การทำประกันรูปแบบ Co-payment เป็นมาตรการในการควบคุมเบี้ยประกัน เนื่องจากจะเห็นได้ว่าในการทำประกันที่ผ่านมา ผู้ทำประกันในรูปแบบ IPD หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล มีจำนวนร้อยละ 5 ที่เป็นผู้เอาประกันแบบไม่จำเป็น อาทิ นอนโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยก็เพื่อเคมมประกัน กลายเป็นการทำให้บริษัทประกันต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น จึงต้องมีการวางมาตรการการใช้ประกันแบบไม่จำเป็นขึ้น ขณะที่ผู้ที่ทำประกันแต่ไม่ได้เบิกหรือไม่ได้เคลม หรือเคลมเเต่ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ไม่จำเป็นต้องจ่าย Co-payment
นายกันต์พงษ์ กล่าวว่า Co-payment อาจสรุปตามตัวย่อเป็นโมเดลว่า C เป็น Cost คือต้นทุน ที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นตามมา O คือ Over claim ไม่ทำให้เกิดระบบการเคลมประกันมากเกินความจำเป็น P คือ Premium ผู้เบิกประกันตามที่กำหนด ไม่เบิกเกิน ไม่ต้องจ่ายในส่วนนี้ A คือ Annual basis มีการคิดคำนวนเบี้ยประกันใหม่ทุกปี หรือการตัดปีต่อปี ไม่เป็นการผูกขาด เมื่อเคลมไม่เกินในปี ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม Y คือ Yes เป็นการจัดการให้ระบบประกันสุขภาพดีกว่าเดิมหรือให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เคลมประกันลดลง การทำ Co payment จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เบี้ยประกันแพงขึ้น แต่เป็นการทำให้ทุกอย่างสามารถควบคุมได้ ไม่เกิดการเคลมประกันแบบไม่จำเป็น คณะกรรมาธิการต้องการให้ประชาชนทุกเข้าใจว่า Co-payment เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยทำให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่แพงขึ้นมาก เพราะเป็นการจัดการแบบเฉลี่ยตามประวัติการเคลมอย่างเป็นธรรม
ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง