นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยพลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และคณะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีกลุ่มตัวแทนผู้สมัคร สว. สำรอง ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีการฮั้วการเลือก สว. เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 เป็นคดีพิเศษ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะดำเนินการให้กรณีดังกล่าว เป็นคดีพิเศษ โดยให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ว่ามีการกระทำผิด ในลักษณะการฮั้วเลือก สว. และมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะมอบอำนาจให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือจะรับโอนสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษมาเป็นของ กกต. หรือไม่ ว่า ตนมีข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจการสอบสวนและตรวจสอบกระบวนการเลือก สว. นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมา วุฒิสภา ให้ความร่วมมือกับ กกต. ในการตรวจสอบมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ตนยืนยันว่า สว.ชุดปัจจุบัน ผ่านกระบวนการเลือก และทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และระเบียบที่ กกต. กำหนดไว้ และ สว. ทุกคน ก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวทำให้ตนรู้สึกไม่สบายใจ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดหน่วยงานที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่กลับมาให้ข่าวจนทำให้ สว.ชุดปัจจุบันเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ตนมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภา ประสานกับ กกต. ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการคดีพิเศษ หากพบความผิดปกติในข้อกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือหน่วยงานใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวุฒิสภาก็จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของ สว.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ถูกทำลายโดยการใช้อำนาจโดยมิชอบ
พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มต่าง ๆ ที่พยายามเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยกระบวนการที่ไม่ปกติ หลังจากนี้ สว. ใช้กระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดี รวมถึงการเชิญผู้บริหารมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้อง การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในวุฒิสภา และการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในกรณีที่พบว่ามีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียแก่วุฒิสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า กรณดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของ สว. ชุดปัจจุบันที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ขณะนี้ ตนยังไม่ทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ แต่การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐก็ต้องอยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ
พันตำรวจเอก กอบ อัจนากิตติ โฆษกคณะ กมธ.การกฎหมาย และการยุติธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ตามข้อกล่าวหาที่มีการระบุว่า เกี่ยวข้องกับความผิดฐานอั้งยี่ การจัดตั้งกลุ่มลับหรือสมาคมเพื่อดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการยุยง ปลุกปั่นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ทำให้เลือก สว. ไม่โปร่งใส ตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริง มีเจตนาให้ร้าย ทำลายวุฒิสภา ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) หน่วยงานรัฐ และองค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อความสงบเรียบร้อย การกล่าวหาว่าองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการใส่ร้ายให้ สว.ชุดปัจจุบันให้เกิดความเสียหายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ผู้ที่กล่าวหาดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองด้วย ซึ่งขณะนี้ มีกระบวนการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว มีการบิดเบือนข้อมูล และสร้างเงื่อนไขให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐสภาในฐานะองค์กรนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ทุกคนต้องช่วยกันธำรงไว้ซึ่งหลักของกฎหมายเพื่อให้บ้านเมืองมีความผาสุก และสงบเรียบร้อย
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง