21 ก.พ. 68 - กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พิจารณาปมบุกรุกที่ดินในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี - ตราด หลังพบมีสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว และถาวร ในที่ดินของรัฐ พร้อมเห็นควรลงพื้นที่สืบหาข้อเท็จจริง

image

           การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ที่มีนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานกมธ.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากรณีการบุกรุกแผ้วถางป่า และยึดถือ ครอบครอง เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวน 28 ไร่ บนเขาบ่อทอง ตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,848 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โดยมีอธิบดีกรมป่าไม้ และผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคืบหน้าการดำเนินการและผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว โดยปัจจุบันได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว 4 คน ซึ่งครอบครองที่ดินบนเขาบ่อทองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยรอบประมาณ 900 ไร่ ส่วนผู้กระทำความผิดอีก 2 คน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันก่อสร้างแผ้วถางหรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครองเพื่อตนเองหรือผู้อื่นเว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่แผ้วถางหรือกระทำด้วย

         นอกจากนี้ที่ประชุมกมธ.ยังพิจารณากรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้บนเกาะในอ่างเก็บน้ำท่าแร้ง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยมีอธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนจากกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุม โอกาสนี้ผู้แทนจากกรมชลประทานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า กรมชลประทานได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวแล้วพบการบุกรุกในเขตชลประทาน 2 จุดที่เป็นเกาะแก่งของอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง โดยจุดแรกอยู่ทางทิศตะวันตก มีการปลูกต้นมะละกอ และต้นทุเรียน รวมถึงปลูกสร้างอาคารชั่วคราว 2 หลัง เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ และจุดที่สอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีการปลูกต้นทุเรียน และก่อสร้างอาคารถาวร 2 หลัง เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่รวมเนื้อที่ถูกบุกรุกทั้ง 2 จุดประมาณ 145 ไร่ ประเมินอายุต้นทุเรียนคาดว่ามอายุยังไม่ถึง 3 เดือน จึงได้เข้าไปปักป้ายแจ้งการบุกรุก มีความผิดตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และมาตรา 23 และมาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นควรเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ