20 ก.พ. 68 -  ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นรายชื่อประชาชนประกอบการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.  การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน จากสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย หวังให้ประเทศมีกฎหมายเฉพาะด้านการศึกษา ครอบคลุมการผลิตครูที่สอดคล้องกับความต้องการ และให้การดูแลถึงสถานศึกษาเอกชน

image

         นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร รับมอบหมายจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นหนังสือจาก นายดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) และคณะ ซึ่งประกอบด้วย 27 องค์กรและบุคลากรด้านการศึกษา เพื่อเสนอรายชื่อผู้สนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน เพิ่มเติมจากที่เสนอไว้ก่อนหน้าแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา รวมขณะนี้จำนวน 11,600 รายชื่อ ซึ่ง นายธงชาติ ระบุว่าเมื่อได้รับรายชื่อดังกล่าวแล้วจะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอกฎหมายและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

         สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมาย การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน กลุ่มผู้ยื่นเสนอระบุว่า เป็นการร่วมขับเคลื่อน ผลักดันการปฏิรูปการศึกษาชาติ ให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ในขณะที่ตลอดช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปฏิรูปด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แต่ยังขาดการปฏิรูปการศึกษา เมื่อตรวจสอบเนื้อหาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาที่รัฐบาลและพรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอ เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น ฉบับของภาคประชาชนนี้จะเน้นให้ความสำคัญกับครู ทั้งกระบวนการผลิต การพัฒนา การใช้งานให้ตรงกับสาขาวิชา มีการคำนวณกำหนดอย่างชัดเจนในการผลิตครูให้เหมาะสมกับผู้เรียน มีอัตราก้าวหน้าตามจำนวนนักเรียนที่แตกต่างกันในแต่ละปี ผลิตครูให้ตรงกับวิชาที่สอน นอกจากนี้ ยังเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับสถานศึกษาและครูผู้สอนในสถานศึกษาเอกชน ที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกับครูในสถานศึกษาภาครัฐ ซึ่งร่างกฎหมายที่ภาครัฐเสนอยังไม่มีประเด็นดังกล่าว

 

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ