นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รับจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายขับเคลื่อนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการลาคลอด 180 วันและการจ้างงานภาครัฐ เพื่อเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจในการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และผลักดันให้มีการขยายวันลาคลอดในอนาคต
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า เชื่อว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านและมีผลใช้บังคับ จะส่งผลทำให้แรงงานอยากมีบุตร เนื่องจากจะมีเวลาในการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอด และทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้ เห็นว่าจะเป็นโอกาสในการเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น แก้ปัญหาสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ที่ลดน้อยลงในปัจจุบันได้
ด้านนายวรศิษฐ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิม ที่ให้ลาคลอดได้ 98 วัน เป็น 120 วัน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการจะได้นำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุในระเบียบวาระ โดยมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ในวาระ 2 และ 3 เพราะกรรมาธิการทุกคนมีความต้องการเช่นเดียวกัน คือ อยากให้แรงงานมีสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนสาเหตุที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่สามารถปรับแก้วันลาคลอดให้เป็น 180 วัน ตามที่พรรคการเมืองและประชาชนเสนอมานั้น เนื่องจากความเห็นของผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME พบว่า ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากปรับวันลาคลอดไปถึง 180 วัน จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมาก
ทั้งนี้ การมายื่นจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายฯ ในวันนี้ เพื่อต้องการให้ในอนาคตมีการพิจารณาปรับเพิ่มวันลาคลอดให้ถึง 180 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่สตรีต้องให้นมบุตร ตั้งแต่หลังคลอดจนถึง 6 เดือน และเลี้ยงดูบุตรจนแข็งแรง ขณะที่สำนักงานประกันสังคม ก็ไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานในระยะ 180 วัน อย่างไรก็ตาม หากสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น เชื่อว่าจะมีการหาแนวทางขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน ได้
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
11 ธ.ค. 67 - กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เคาะเพิ่มวันลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 120 วัน ด้านเครือข่ายแรงงานยื่นจดหมายเปิดผนึกหนุนผลักดันลาคลอดได้ 180 วัน