นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2567 สู่รัฐธรรมนูญในฝัน โดยมี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวรายงาน และมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน ณ ห้องสัมมนาชั้น B1 อาคารรัฐสภา
ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดงานช่วงหนึ่งว่า 10 ธ.ค. ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของรัฐสภา เพราะเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญ จึงมีรัฐสภาได้และการมีรัฐธรรมนูญซึ่งโดยปกติต้องอนุมัติโดยรัฐสภา รัฐสภาซึ่งมาจากประชาชนเป็นผู้อนุมัติรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองและการบริหารประเทศ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาและประชาชน ต้องผูกพันกันอย่างแยกไม่ได้ ประเทศจึงจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ทุกคนต้องการ
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่สะท้อนถึงเจตจำนงร่วมกันของคนในชาติ แต่ที่ผ่านมานั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมักเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง การรัฐประหาร รวมถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงถึงจุดอ่อน เพราะขาดความรัก ความเข้าใจ และความหวงแหนในประชาธิปไตย โดยในอดีตรัฐธรรมนูญเกิดจากความตั้งใจของประชาชนคนไทย และเป็นความปรารถนาดีของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เต็มใจมอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้คนไทยทั้งประเทศ แต่น่าเสียดายที่ท่านต้องสละราชสมบัติ แต่ยังห่วงใยเรื่องประชาธิปไตย จึงมอบอำนาจอันมีอยู่ของพระองค์ให้กับประชาชน สะท้อนว่าท่านมิได้เต็มใจมอบอำนาจให้กับกลุ่มบุคคลใดหรือคณะใดในการใช้อำนาจของท่านบริหารประเทศนี้ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศชาติ และยังเป็นกติกาที่สร้างความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ การมีส่วนร่วมทางการเมืองสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในบริบทของการปกครองและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของเกาหลีใต้และตุรกี ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว หากประชาชนเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวต่ออำนาจของเผด็จการ ตนเชื่อว่าประเทศนั้นจะสามารถรักษาอำนาจของปวงชนได้ และสิ่งสำคัญคือหากมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีก จะทำอย่างไรให้ประชาชนสำนึกรักในประชาธิปไตย พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐธรรมนูญในอนาคตควรมีบทบัญญัติของการป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร ขอให้มองไปข้างหน้าว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแล้วจะป้องกันรัฐธรรมนูญและการรัฐประหารได้อย่างไร จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างแนวรั้วป้องกันรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และในวันนี้ไม่ได้เพียงแค่เฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นรากฐานของประเทศในอดีต แต่ยังมองไปข้างหน้าถึงการพัฒนารัฐธรรมนูญให้ตอบสนองต่อความหวังและความฝันของคนรุ่นใหม่เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่เชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์
สำหรับงานวันรัฐธรรมนูญ 2567 สู่ รัฐธรรมนูญในฝัน มีกิจกรรมมากมาย อาทิ พิธีมอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้ชนะการประกวดกิจกรรม D-Youth Festival : มหกรรมเปิดบ้านยุวชนประชาธิปไตย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ มุมมองการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ อนาคตรัฐสภาไทย โดยศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิจกรรม Meet & Greet สส. ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน กิจกรรมการโต้วาทีหัวข้อ ระบบสภาคู่ดีกว่าสภาเดี่ยว โดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีนายบุญมา ศรีหมาด ผู้ประกาศและผู้จัดรายการของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมไฮไลท์ คือ การชมเครื่องยอด ถ่ายรูปเช็คอิน ซึ่งพบว่ามีประชาชนให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง