5 ต.ค. 67 - กมธ.การกีฬา สภาผู้แทนราษฎร  ดูทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาของไทย พบแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเติบโต หนุนถึงการท่องเที่ยว แนะให้บูรณาการด้านข้อมูลและการดำเนินงาน หวังให้เศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมกีฬาโตต่อเนื่อง

image

        คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปริญญา ฤกษ์หร่าย เป็นประธาน ประชุมพิจารณาศึกษาแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทย จากผู้แทนกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งพบว่าในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการกีฬาของมีมูลค่าราว 1.92 แสนล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท มีการจ้างงานในอุตสาหกรรม 3.56 แสนคนในปีที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนคน ภาครัฐให้การสนับสนุนส่งเสริมอาชีพกีฬาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพที่กำหนดชนิดกีฬาอาชีพ 14 ชนิด และมีการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับชาติหลายรายการ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา เช่น สนามกีฬาและสถานที่ฝึกซ้อม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการจัดหาและพัฒนาให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย มีการจัดทำฐานข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกีฬาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมทักษะในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) การจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศไทย ซึ่งย่อมส่งผลดีถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้าพักและการใช้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาภายในประเทศมีความสำคัญทั้งในทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมกีฬาสามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ 5 อันดับสำคัญ คือ โรงแรม ที่พัก  การค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าด้านกีฬา การผลิตอุกรณ์กีฬา บริการที่เกี่ยวกับการกีฬาอื่น ๆ การผลิตยานพาหนะสำหรับการกีฬา

         คณะกรรมาธิการการกีฬา มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานดังกล่าวให้พยายามบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ถือเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันเห็นควรกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์กีฬาของไทยให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถแข่งขันในระดับสากล ตั้งเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนารายการแข่งขันกีฬาที่เป็นของประเทศไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์ชนิดกีฬาและพื้นที่จัดการแข่งขันที่เหมาะสม ให้รัฐเป็นตัวกลางในการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกีฬา เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมทักษะและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกีฬาทุกกลุ่ม พร้อมกับจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาที่จำเป็น เช่น สนามกีฬา สถานเรียนและฝึกกีฬา สถานที่ท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานคุณภาพและมีความปลอดภัยครอบคลุมชนิดกีฬาที่หลากหลาย รวมทั้งเร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในทุกมิติให้แก่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาตามเป้าหมายที่วางไว้และสามารถดำเนินการได้

 

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ