5 ต.ค.67 - สว.กัลยา แนะเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์บิววาเรียแทนยาฆ่าแมลง แก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำลายนาข้าว ในพื้นที่จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง แก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและทันเวลา ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

image

นางกัลยา ใหญ่ประสาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับ ปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำลายนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรส่วนมากปลูกข้าว พันธุ์ กข 6 ไว้เพื่อบริโภค แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลจึงขาดองค์ความรู้ เมื่อข้าวแตกกอเกิดเป็นสีเหลืองเกษตรกรจึงเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เมื่อพ้นระยะเวลา 5 วัน ปรากฏว่านาข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมด ปัจจุบันปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้ลุกลามขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และพบว่ากรณีดังกล่าว เกษตรกรส่วนมากใช้วิธีซื้อยาฆ่าแมลงมาเพื่อแก้ปัญหาซึ่งไม่ได้ผลและมีการระบาดขยายตัวทำให้ปัญหาลุกลามเพิ่มขึ้น เกษตรกรส่วนมากยังไม่รู้วิธีการใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช กรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของนายธวัช คำแก้ว ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farner) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดลำพูนในปี พ.ศ. 2567 ที่ได้ใช้สารชีวภัณฑ์บิววาเรียซึ่งซื้อมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำมาใช้แก้ปัญหาที่บ้านแวนนาริน ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปรากฏว่าสามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำให้เพลี้ยตายและระงับการระบาดได้เป็นอย่างดี และมีกรณีศึกษาอีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การบริหารจัดการศัตรูพืชดีเด่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใช้แนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา ของเทศบาลตำบลแม่ตื่น อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่มีการตรวจโลหิตเพื่อหาสารพิษ สร้างความตระหนักรู้ของประชาชนต่อการบริโภค การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สร้างข้อกำหนดชุมชนโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าในชุมชน โดยได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการศัตรูพืช ร่วมกับปราชญ์เกษตรและผู้นำชุมชน ตลอดจนจัดทำโรงพยาบาลโรคพืช ซึ่งมีห้องปฎิบัติการ มีการผลิตสารชีวภัณฑ์ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์สังเกตการขยายตัวของเชื้อราบิววาเรีย และเชื้อราไตรโคเดอร์มา และนำมาจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เป็นสนสมาชิกในราคาถูกเพียงถุงละ 5 บาท และจำหน่ายให้เกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในราคาถุงละ 10 บาท โดยจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบและทันเวลา และในช่วงการระบาดได้มีการแจกสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทุกครัวเรือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเกษตรกรได้นำสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับแจกไปพ่นกำจัดเพลี้ยซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี


ณรารัฎฐ์  โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ