14 ม.ค.68 - สส.จุลพงศ์ พรรคประชาชน กังวลหากรัฐบาลยังยืนยันให้มี Entertainment Complex แนะ กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ป้องกันไทยเป็นฮับการทำผิดกฎหมายข้ามชาติ

image

           นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ ครม.ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบริการครบวงจร (Entertainment Complex ) ว่า ตนได้ศึกษาติดตามเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลมาสักระยะหนึ่งแล้ว จึงขอแสดงความเห็น 2 เรื่อง คือ ข้อวิตกกังวลในการมีกาสิโนในประเทศไทยและข้อเสนอแนะที่ควรเพิ่มในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากรัฐบาลจะยังคงยืนยันผลักดันกฎหมายดังกล่าว โดยตนเห็นว่า สภาพทั่วไปของประเทศไทย รัฐบาลยังปล่อยให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวมและเลือกปฏิบัติ มีการคอร์รัปชันในทุกระดับ หากมีการเปิดกาสิโนในประเทศจะกลายเป็นฮับระดับโลกในหลายเรื่อง อาทิ ฮับการฟอกเงิน ฮับการค้ามนุษย์ ฮับยาเสพติด และฮับคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แม้กระทั่งฮับการทวงหนี้โหดที่เคยเกิดขึ้นในมาเก๊า กาสิโนจะเป็นถังขยะใบโตที่ทิ้งไว้ให้รุ่นลูกหลาน โดยส่วนตัว เห็นว่าในสภาพสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะมีกาสิโน เพราะขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการเลือกปฏิบัติ การทุจริตคอร์รัปชันยังแพร่หลาย ซึ่งยังไม่เห็นรัฐบาลจะลงมือแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมการสำหรับการมีกาสิโนในประเทศ ส่วนกระแสคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการมีกาสิโน พบว่ามีสาเหตุสำคัญ คือ การหลั่งไหลของการกระทําผิดกฎหมาย เพราะกาสิโนจะเป็นเครื่องเร่งในการทำให้ประเทศไทยเป็นฮับของการทำผิดกฎหมายข้ามชาติ มีความกังวลว่าผลกระทบทางลบจากการพนันในสังคมไทยจะมีมากขึ้น รวมถึงความโปร่งใสในการคัดเลือกผู้รับใบอนุญาต รัฐบาลไม่ควรยกตัวอย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซึ่งเปรียบเทียบกับไทยไม่ได้ในเรื่องประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย หลายสิบปีก่อนสิงคโปร์ก็ไม่ยอมให้มีกาสิโน แต่เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการปราบคอร์รัปชันและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงยอมให้มีกาสิโน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ทราบว่าจะยอมให้มีการเปิดกาสิโนในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีกระบวนการคิดหลายสิบปี ไม่ใช่ปีสองปีเท่านั้น
           นายจุลพงศ์ กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลยังดึงดันยืนยันให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้จริงขอเสนอความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังหละหลวมและขาดอยู่ใน 5 ประเด็น คือ ควรเพิ่มการกําหนดให้มีการประกาศเงื่อนไขและข้อกําหนดการประมูลใบอนุญาตกาสิโน รวมทั้งจัดมีการประมูลใบอนุญาตอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะเหมือนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อลดข่าวลือว่ามีการแบ่งใบอนุญาตกันล่วงหน้าแล้ว และควรกำหนดจังหวัดและเขตที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจรที่จะมีกาสิโนอยู่ในนั้นด้วย เนื่องจากตามร่าง พ.ร.บ. ที่ ครม. เพิ่งอนุมัติไปได้ให้อํานาจแก่ครม. ที่จะออก พ.ร.ก.กําหนดจังหวัดและเขตที่ตั้งสถานบันเทิงฯ ได้เลย แต่ตนเห็นว่าก่อนที่ ครม.จะออก พ.ร.ก. ควรทำประชามติของประชาชนในพื้นที่ก่อนว่าเห็นชอบด้วย หรือไม่ นอกจากนี้ ควรกำหนดเงื่อนไขอื่นในการเข้าเล่น เช่น รายได้ขั้นต่ำ การไม่ติดเครดิตบูโร ไม่มีประวัติอาชญากรรม การขออนุญาตเข้าเล่นล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น ไม่ใช่กําหนด เงื่อนไขการเข้าเล่นเพียงมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี เท่านั้น ขณะที่การจัดแบ่งรายได้เข้ารัฐ ร่าง พ.ร.บ.นี้ พร้อมขอเสนอรูปแบบให้มีการจัดสรรรายได้ให้รัฐจากรายได้ก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายผันแปรไปตามรายได้ของแต่ละปีตลอดระยะเวลาใบอนุญาต 30 ปี แทนที่รัฐจะได้รับรายได้จำนวนคงที่ตลอด 30 ปี รวมทั้งควรมีการจัดตั้ง "กองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานประกอบการครบวงจร" ตัวอย่างผลกระทบดังกล่าวที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น คือ ปัญหาการติดการพนันที่จะทําให้ครอบครัวและสังคมเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับความห่วงใยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้มีความเห็นไว้ในที่ประชุม ครม. กระทรวงการคลัง จึงอาจจะพิจารณานําเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ ที่ถูกตัดออกไปกลับมาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ตามเดิม ทั้งนี้ ตนขอเชิญชวนให้ประชาชนติดตามและช่วยกันออกความเห็นในเรื่องการมีกาสิโนในประเทศไทยต่อไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

สำนักประชาสัมพันธ์ สนง.สผ.ข้อมูล/แฟ้มภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ