13 ม.ค. 68 - เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อวุฒิสภา ค้านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... หวั่นกระทบระบบนิเวศทางทะเล 

image

          นายธวัช สุระบาล ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา รับจดหมายเปิดผนึก เรื่องกฎหมายประมงต้องนำไปสู่การประมงที่ยั่งยืน ระบบนิเวศสมดุล เคารพสิทธิมนุษยชน จากนายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และคณะ โดยเป็นการแสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... พร้อมขอให้ยกเลิกการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
          นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย 59 องค์กร ได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ และได้ติดตามการร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยพบว่ามีมาตราที่ถูกแก้ไขและกังวลว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะมาตรา 69 ที่กลับมาอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ทำการประมงในเวลากลางคืนได้ โดยหวังว่าการพิจารณาร่างกฎหมายในวุฒิสภา จะสามารถทบทวนการแก้ไขมาตรานี้ได้
          ด้านประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยได้นำเสนอเหตุผลมายังคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นหน้าที่ที่วุฒิสภาต้องดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จะได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และหากมีประเด็นที่ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลก็จะพิจารณาเชิญมาหารือร่วมกัน โดยขอให้มั่นใจว่าคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีธงว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ทั้งหมดจะต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกัน
          สำหรับจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า สืบเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย จากการขาดการรายงานและการควบคุม ปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินกำลังการผลิตของทะเล การค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงของไทย โดยเนื้อหาและการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้การประมงทะเลไทย รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้การรับรอง
          ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ ดังกล่าว ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การประมงของไทยกลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต เนื่องจากมีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงทั้งหมด การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากกว่า 40 ปี เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก กระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ ให้สามารถทำการประมงในเวลากลางคืนได้ การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสั่งริบเรือและเครื่องมือประมงในกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง การลดโทษปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของอัตราโทษเดิม
          ทั้งนี้ กังวลว่าการแก้ไขประเด็นดังกล่าวนี้ อาจนำไปสู่ผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเล การประมงอย่างยั่งยืนและการรักษามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของไทย จึงขอให้พิจารณาดำเนินการ ยกเลิกการแก้ไขในมาตรา 69 โดยห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 10/1, 11 และ 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและรายงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล และมาตรา 85/1 การกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน องค์กรด้านแรงงาน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจำนวน 3 คน และขอให้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและด้านแรงงาน

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ