15 ม.ค. 67 – กมธ.พลังงาน สผ. ส่งหนังสือถึง กพช. ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับทางภาครัฐ เพื่อความเท่าเทียม หลังชะลอการเซ็นสัญญาไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าโครงการในรอบเพิ่มเติม จำนวน 3,600 เมกะวัตต์

image

         นายศุภโชติ ไชยสัจ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน แถลงผลการประชุมพิจารณาเรื่องแนวทางการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศไทย โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาให้ข้อมูล อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งนี้ จากการที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff หรือ Fit สำหรับปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรอบเพิ่มเติม ได้แก่ พลังงานลม และ แสงอาทิตย์ จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff สำหรับปี 2565- 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรอบเพิ่มเติม จำนวน 3,600 เมกะวัตต์นี้ คือ การประกาศราคารับชื้อที่แพงเกินจริง กระบวนการที่ส่อทุจริต เช่น การไม่เปิดหลักเกณฑ์การให้คะแนน รวมไปถึงการมีวิธีที่ดีกว่าอย่าง Direct PPA ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดของภาครัฐนั้น ก็เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบแรก จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ และจากข้อมูลที่คณะกรรมาธิการฯ ได้รับจากการชี้แจงของหน่วยงานต่าง ๆ เห็นว่ายังมีสิ่งที่รัฐบาลทำได้เพื่อจะหยุดยั้งการรับชื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบแรก จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ เช่นกัน เนื่องจากยังมีโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าประเภท SPP 20 โครงการ และ VSPP อีกจำนวนหนึ่ง โดยในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดรอบ 5,200 เมกะวัตต์ ระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น ในข้อ 39 ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถยกเลิกการรับซื้อได้ หากมีมติออกมาจาก กพช.

            นายศุภโชติ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้รัฐถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมในทางปฏิบัติ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติส่งหนังสือถึง กพช. เพื่อเสนอแนะให้มีการชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับทางภาครัฐ ในรอบ 5,200 เมกะวัตต์เช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับมติของ กพช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่สั่งให้มีการชะลอการเซ็นสัญญาไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้า สำหรับโครงการในรอบเพิ่มเติม จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ไปเเล้ว

 

 

เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ