นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งยังมีการแจ้งความดำเนินคดีเฉพาะบางราย
ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า พ่อแม่ของตนได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2514 จากบุคคลที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ รฟท. และได้อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นที่ดินของ รฟท. จึงได้ยื่นเรื่องขอเช่าพื้นที่ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 แต่กลับไม่มีความคืบหน้าจาก รฟท. แม้จะได้รับหนังสือสอบถามความประสงค์จะเช่าอีกครั้งในปี 2567 ซึ่งผ่านมากว่า 1 ปี ยังไร้การตอบรับ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านรายนี้กลับเป็นเพียงรายเดียวที่ถูก รฟท. ฟ้องขับไล่และดำเนินคดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาครอบครองกรรมสิทธิ์ เพียงต้องการอยู่อาศัยโดยชอบตามกฎหมาย และยังร้องเรียนว่าพบพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ รฟท. บางรายเรียกรับผลประโยชน์จากชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย
ด้านนายต่อพงษ์ ตั้งคำถามถึง รฟท. ว่ามีมาตรฐานอย่างไรในการดำเนินคดี เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีนายทุนที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับพบว่ารัฐใจเย็นและยืดหยุ่นมากกว่า ทั้งที่ชาวบ้านในกรณีนี้มีเจตจำนงขอเช่าและอยู่ภายใต้กระบวนการตามระเบียบของ รฟท. พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออกและคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง