นายนิรุตติ สุทธินนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาแนวทางการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve และ New S-Curve) โดยใช้กลยุทธ์ที่ใช้ความต้องการของอุตสาหกรรมนำหน้า (Demand-Driven Strategy) โดยมี นางสาวสุจิตรา ขจรกิดาการ ผู้อำนวยการกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ร่วมให้ข้อมูลว่า ในปี 2567 มีการแจ้งความต้องการแรงงาน 836,278 อัตรา มีผู้สมัครงาน 307,630 คน ได้รับบรรจุงาน 192,104 คน สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve มีผู้สำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวนกว่า 71,938 คน และ New S-Curve จำนวนกว่า 45,676 คน โดยคาดการณ์ในปี 2569 อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะต้องการแรงงานประมาณ 17,266 คน และการแพทย์ครบวงจรต้องการแรงงาน ประมาณ 22,447 คน ซึ่ง 11 ทักษะสำคัญที่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องการ แบ่งออกเป็น ทักษะทางเทคนิคและความรู้เฉพาะทางที่จำเป็นในการทำงานโดยตรง และทักษะทางสังคม ได้แก่ 1. ภาษาต่างประเทศ 2.ดิจิทัลและเทคโนโลยี 3.วิทยาศาสตร์ข้อมูล 4.การวิเคราะห์ข้อมูล 5. การเป็นผู้ประกอบการ 6. การใช้เครื่องจักรเครื่องมือ 7. การคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม 8.ความคิดสร้างสรรค์ 9. ความคิดเชิงกลยุทธ์ 10. การสื่อสารและทำงานเป็นทีม และ 11. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข พบ 3 ปัญหาสำคัญ คือ หลักสูตรการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ภาครัฐยังไม่มีฐานข้อมูล "ทักษะแห่งอนาคต" ที่ตลาดแรงงานต้องการอย่างชัดเจน และขาดการบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการผลิตกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ภายหลังการพิจารณา คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่า การพัฒนากำลังคนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเลือกอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการในอนาคต 1-2 อุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นหาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาทักษะกำลังคน รวมทั้งปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดคล้องกันได้อย่างเหมาะสม
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
อนุ กมธ.ด้านการจัดหางานฯ วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ