17 ก.ค.68- กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา แถลงผลการลงนามบันทึกความเข้าใจ 8 หน่วยงาน มุ่งกำกับดูแลโฆษณาของสถานเสริมความงาม พร้อมยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค หวังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ” ที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อประชาชน

image

        ดร.โสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา และในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับผู้แทนจาก 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แถลงข่าวการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “การส่งเสริมความร่วมมือการกำกับดูแลการโฆษณาสถานเสริมความงาม เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

        ดร.โสภณ กล่าวถึงการลงนามครั้งนี้ ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการทำงานแบบบูรณาการในการกำกับดูแลการโฆษณาสถานเสริมความงาม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและสิทธิของผู้บริโภคโดยเฉพาะในยุคที่สื่อออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว การแสดงเจตจำนงร่วมกันครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดตั้งกลไกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และตรวจสอบการโฆษณาเกินจริงที่อาจเข้าข่ายหลอกลวงหรือผิดกฎหมาย การพัฒนาแนวทางกำกับดูแลร่วมกันระหว่างหน่วยงานกลางและท้องถิ่น โดยเฉพาะการควบคุมป้ายโฆษณาในพื้นที่จริง ควบคู่กับการสอดส่องสื่อออนไลน์ การผลักดันแนวทางหรือข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อพัฒนากฎหมายหรือกลไกใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และการส่งเสริมจริยธรรมและการกำกับตนเองของผู้ประกอบการ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและตัดสินใจอย่างมีข้อมูล ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการคุ้มครองด้านสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งการกำกับบริการ การควบคุมโฆษณา และการส่งเสริมจริยธรรมของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ กมธ. จะติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และผลักดันข้อเสนอเชิงระบบ อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย การจัดตั้งหน่วยกลางด้านโฆษณาสุขภาพ และการพัฒนากลไก “Certify” ข้อมูล และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ” ที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และทันยุคสมัยต่อไป

        ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ และกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภามีบทบาทกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เป็นไปตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพซึ่งรวมถึงการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์ ทั้งคลินิก และสถานเสริมความงามที่มีแพทย์ให้บริการ ซึ่งการร่วมกันขับเคลื่อนครั้งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ กับการโฆษณาเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่อาจละเมิดหลักวิชาชีพและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้รับบริการ ซึ่งการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนจะช่วยยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของบริการทางการแพทย์ในประเทศ

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ