5 ก.พ.68- กมธ.การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ติดตามผลกระทบจากกรณี กฟภ. ตัดกระแสไฟฟ้า 5 จุด ในเมียนมาตามมติของที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หวังตัดปัจจัยสนับสนุนเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ด้านผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เผยชี้แจงให้รัฐบาลเมียนมาเตรียมมาตรการรับมือแล้ว ยืนยันไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

image

        นายกรวีร์   ปริศนานันทกุล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กมธ. โดยมีวาระพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าข้ามพรหมแดนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายหลังจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติตัดไฟฟ้า-น้ำมัน-อินเทอร์เน็ต 5 จุด ชายแดนไทย-เมียนมา เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. วันนี้ (5 ก.พ.68) โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ กฟภ. ว่า ที่ประชุม กมธ. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และสังคมให้ความสนใจเพราะการตัดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและส่งผลถึงคนไทยในพื้นที่ดังกล่าว

        นายไผท สิทธิสุนทร ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดน และประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวชี้แจงว่า ตามที่ประชุม สมช. ได้มีมติตัดกระแสไฟฟ้าที่ข้ามไปฝั่งประเทศเมียนมา 5 จุด เนื่องจากพบว่ามีการใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมทั้งตัดสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และระงับการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย โดยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ สมช. ได้ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการแจ้งไปยังให้ประชาชนในพื้นที่ โรงเรียน และโรงพยาบาล ให้มีการเตรียมความพร้อม และประสานกับรัฐบาลเมียนมาให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ สำหรับมาตรการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ ประชุม สมช. ให้ความสำคัญกับการส่งปัจจัยต่าง ๆ ไปยังจุดต่าง ๆ ในเมียนมาร์ โดยเฉพาะบริเวณท่าข้ามบริเวณพรหมแดนต่าง ๆ ที่อาจมีการลักลอบส่งปัจจัยจากไทยไปสนับสนุนเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ สมช. ยินดีรับเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานให้มีการทำงานต่อเนื่อง และระยะต่อไป สมช. เตรียมขยายผลมาตรการตัดกระแสไฟฟ้า ไปยังจุดอื่น ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หากพบว่า เป็นจุดที่มีเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คาดว่าภายใน 1-2 เดือนก็จะมีข้อเสนอจาก สมช. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก

        นายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ สมช. มีมติออกมา ทางกระทรวงฯ ได้ประสานไปยังรัฐบาลเมียนมา ให้รับทราบและเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนหน้านี้ กรณีของนักแสดงจีนถูกลักพาตัวไปในเมียนมา รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ก็ได้มีการประสานงานมาโดยตลอด แต่ก็มีข้อจำกัดว่า พื้นที่เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ มักอยู่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลเมียนมามีปัญหาการเข้าพื้นที่ แต่รัฐบาลเมียนมาก็พร้อมให้ความร่วมมือในการยกระดับมาตรการด้านความมั่นคงในบริเวณชายแดน ส่วน ลาว และกัมพูชา ทางกระทรวงฯ ก็ได้มีการประสานความร่วมมือในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงเพื่อสนับสนุนการทำงานของ สมช. ต่อไป ยืนยันว่า กระทรวงฯ พร้อมประสานกับรัฐบาลในประเทศเพื่อนบ้าน และมั่นใจได้ว่า มาตรการของ สมช. จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแน่นอน

        นายขจรเกียรติ อัศวเบ็ญจาง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวชี้แจงว่า กฟภ. ดำเนินการภายใต้มติ ครม. เมื่อปี 2539 ที่ให้ กฟภ. สามารถจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ต้องเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น ส่วนกรณีเมียนมา เดิมมี 8 จุด และที่ผ่านมา กฟภ. ได้งดจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 3 จุด ที่ชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และชานแดนจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลเมียนมาแจ้งมา และเกิดจากคู่สัญญาค้างค่าไฟฟ้าทำให้ กฟภ.ต้องงดจ่ายไฟ ส่วนกรณีการจัดกระแสไฟฟ้า 5 จุดนั้น กฟภ. เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ซึ่งตามกรอบสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ข้อ 14 กรณีที่เป็นเรื่องความมั่นคง แต่สัญญานั้นได้ระบุให้รัฐเป็นผู้สั่งการให้ตัดกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่ง กฟภ. สามารถตรวจสอบความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้ อาทิ ไฟฟ้าในพื้นที่ขัดข้องหรือไม่เพียงพอ แต่หากเป็นความมั่นคงเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนหลายมิติซึ่งนอกเหนือการประเมินของ กฟภ.เพียงหน่วยงานเดียว ดังนั้น เมื่อ สมช. มีมติให้ งดจ่ายกระแสไฟฟ้า กฟภ. ก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและทำหนังสือแจ้งไปยังคู่สัญญาที่ดูแลใน 5 จุดเรียบร้อยแล้ว ส่วนจุดอื่น ๆ นั้น ยังมี ประเทศกัมพูชาและลาว นั้น กฟภ. ได้มีการตรวจสอบไปแล้ว หากทาง สมช. มีการแจ้งมาว่าเป็นจุดที่ตั้งของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมีคำสั่งให้ตัดกระแสไฟฟ้าก็ยินดีปฏิบัติตาม ส่วนผลกระทบของคู่สัญญาที่อาจมีการฟ้องร้องเป็นคดีความตามมานั้น ข้อมูลความมั่นคงจาก สมช. ก็จะเป็นประโยชน์กับ กฟภ. ที่สามารถชี้แจงต่อคู่สัญญาในทางคดีได้

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ