5 ก.พ. 68 - เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยื่นขอประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และ สว. หนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

image

       นายคัมภีร์ ดิษฐากร โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญ (รธน.) ใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนมีที่มาจากหลากหลายปัญหาทั้งเรื่องป่าไม้ ที่ดิน การสร้างเขื่อน การทำเหมือง ปัญหาการเกษตร คนจนเมือง และด้านการศึกษา นำโดย นายไพฑูรย์ สร้อยสด โดยเครือข่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ เนื่องจากเห็นถึงปัญหารัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ทำลายกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดให้กลุ่มทุนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนถูกแย่งยึดทรัพยากรไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กลุ่มทุนผูกขาด แม้จะมีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีโครงสร้างอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้การออกกฎหมายหรือจัดสรรผลประโยชน์ที่ผ่านมาไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร้องเรียนได้ติดตามผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มากว่า 7 ปี จากสัญญาของทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ปี 2562 และปี 2566 รวมทั้งได้ลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าสู่สภาในแต่ละครั้ง ให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีโครงสร้างอำนาจเป็นประชาธิปไตยมีความยึดโยงกับประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เครือข่ายเห็นว่าการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศเช่นกัน

        ด้าน โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไปนำสู่การพิจารณาในส่วนที่สภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เครือข่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังยื่นหนังสือระบุถึงเจตนารมย์ดังกล่าวต่อ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  สส. และหัวหน้าพรรคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน รวมทั้งคณะ สส.พรรคประชาชน พร้อมยื่นกับตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ  นายพรเทพ พูนศรีธนากูล นายนิกร โสมกลาง สส.พรรคเพื่อไทย และยื่นต่อ สว. นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย และ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตัวแทนพรรคและ สว. โดย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าพรรคประชาชนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และยินดีที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาล ยืนยันถึงการแก้ไขทั้งฉบับด้วยเช่นเดียวกัน จึงเรียกร้องไปยังนายกฯ ช่วยผลักดันเรื่องดังกล่าว ส่วนรายละเอียดที่ยังเห็นไม่ตรงกันสามารถนำมาพูดคุยในชั้นกรรมาธิการวาระ 2 และ 3 ได้ ภายหลังการพิจารณาวาระแรก ในวันที่ 13 และ 14 ก.พ. นี้ 

        ขณะที่ตัวแทน สส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเดียวกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)เข้ามาร่วมพิจารณา ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ในการพิจารณาร่างแก้ไขแต่ร่าง จะมีรายละเอียดที่แตกต่าง แต่ในหลักการมุ่งหวังให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและเชื่อว่าผลลัพธ์จะออกไปในทางบวกพร้อมหวังให้มีการขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคประชาชนต่อไป ด้าน นายเทวฤทธิ์ และ นายประภาส เห็นด้วยกับการผลักดันให้มีกระบวนการดังกล่าว และเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรครัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่งดังนั้นการจะผ่านหรือไม่ ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล แต่จนถึงขณะนี้ตนยังไม่เห็นนายกฯ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงหวังให้มีการพูดถึงและแสดงจุดยืนก่อนการประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า (13-14 ก.พ. นี้) นอกจากนี้ ยังเห็นว่า สว. ควรให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นที่ไม่ควรจะต้องใช้เสียง สว. ถึง 1 ใน 3 ในการแก้ไข

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ