นายสิทธิกร ธงยศ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงมาตรการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินมีราคาแพง และกรณีความล่าช้าของเที่ยวบิน หรือ เที่ยวบินดีเลย์ ไปยัง (รมว.คมนาคม) โดยระบุว่าปัจจุบันการเดินทางด้วยเครื่องบินถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความนิยม เพราะมีความสะดวกและรวดเร็ว แต่กลับต้องประสบกับปัญหาราคาค่าโดยสารที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว พบว่าบางเส้นทางราคาปรับขึ้นเกิน 2 เท่าจากราคาปกติ เมื่อพิจารณาจากรายงานสถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2567 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่าค่าโดยสารของสายการบินในกลุ่มให้บริการแบบต้นทุนต่ำ ซึ่งมีเพดานค่าโดยสารอยู่ที่ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร จะมีอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่สูง เช่น ค่าโดยสารของสายการบินแอร์เอเชีย เส้นทางบินดอนเมือง – เชียงใหม่ มีค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 5,299 บาท เส้นทางบินดอนเมือง - นครพนม มีค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 4,813 บาท และเส้นทางบินดอนเมือง – ภูเก็ต มีค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 5,417 บาท เป็นต้น ทั้งนี้มองว่าการกำหนดอัตราค่าโดยสารเครื่องบินมีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางและยังมีผลต่อนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารเครื่องบินให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เช่น อัตราภาษี ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าบริหารจัดการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเพดานราคาที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสายการบินเลื่อนเวลาการบินบ่อยครั้งจนเกิดความล่าช้าในการเดินทาง หรือ เที่ยวบินดีเลย์ ตลอดจนมีการยกเลิกเที่ยวบินโดยแจ้งผู้โดยสารให้รับทราบในเวลากระชั้นชิด กระทรวงคมนาคมมีแนวทางแก้ปัญหา และการเยียวยาผู้โดยสารอย่างเหมาะสมอย่างไร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงว่าจากการกำกับดูแลการบินของประเทศของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 7 สายการบิน โดยแต่ละสายการบินมีการกำหนดราคาค่าโดยสารแบบยืดหยุ่น (Dynamic pricing) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกเมื่อนำไปเฉลี่ยกับราคาสูง จึงหมายความว่าใน 1 เที่ยวบิน จะมีทั้งค่าโดยสารถูกและแพง ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของผู้โดยสาร และการจองบัตรโดยสารล่วงหน้า หากจองกระชั้นชิดวันเดินทางจะได้บัตรโดยสารในราคาที่แพง โดยสัดส่วนของราคาค่าโดยสารของสายการบิน เริ่มที่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ถึง 1,500 บาท สายการบินจะเร่งขายตั๋วให้ได้มากและเร็วที่สุดเพื่อให้มีรายได้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งจุดคุ้มทุนของสายการบินตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อยู่ที่ 60 % เมื่อคำนวณแล้วพบว่าสายการบินต้นทุนต่ำมีเพดานราคาอยู่ที่ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนสายการบินบริการแบบเต็มรูปแบบจะอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลเมตร จากนั้นช่วงราคา 1,500 บาท ถึง 3,500 บาท สัดส่วนราคาถูกและแพงขึ้นอยู่ตามความรวดเร็วในการจองบัตรโดยสาร ส่วนอัตราราคา 3,500 บาท ถึง 4,000 บาท นั้น เป็นสัดส่วนการจำหน่าย 0.8 % ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาใกล้ถึงวันเดินทางหรือซื้อในวันเดินทาง ดังนั้น หากผู้โดยสารวางแผนการเดินทางล่วงหน้าจะทำให้ได้ราคาค่าโดยสารที่ถูก ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์ และมีช่องทางในการจองบัตรโดยสารหลายช่องทางเพื่อให้ผู้โดยสารได้ราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ทบทวนหลักเกณฑ์ปี พ.ศ. 2567 อาทิ ภาษีสรรพสามิต การบริหารจัดการภายในสนามบิน และเพดานค่าโดยสาร ของสายการบินต้นทุนต่ำ พบว่าเพดานค่าโดยสารที่มีอยู่ยังคงมีความเหมาะสม และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการผลักดันให้เกิดการแข่งขันของสายการบินมากกว่า 1 สายการบิน ในสนามบินรอง ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาด้านราคาโดยสาร ส่วนกรณีเที่ยวบินล่าช้า ได้พยายามติดตามและแก้ไขปัญหาสายการบินที่มีปัญหา เพราะการเดินทางในทุกมิติคือหัวใจสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการเชิงรุกให้สายการบินปรับแผนการดำเนินการให้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเหมาะสมกับจำนวนอากาศยาน ปรับปรุงฤดูการบินให้สอดคล้องจำนวนผู้โดยสาร
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง