พลตำรวจโท วันไชย เอกพรพิชญ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441(Anti Online Scam Operation Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 - 31 ต.ค.67 มีประชาชนโทรแจ้งปัญหา 1,167,512 เรื่อง ซึ่งแสดงเห็นว่าปัญหาการหลอกลวงประชาชนทางออนไลน์ยังรุนแรงและขยายวงกว้าง โดยมีมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 19,000 ล้านบาท และข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ถึง 30 มิ.ย.67 มีการแจ้งความผ่านระบบ จำนวน 575,507 เรื่อง โดยแจ้งขออายัดบัญชีจำนวน 419,184 บัญชี เป็นเงิน 26,216 ล้านบาท อายัดบัญชีได้ทัน จำนวน 7,090 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 10.79 เฉลี่ยคดี วันละ 636 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย วันละ 80 ล้านบาท โดยปัจจัยความสำเร็จของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในการหลอกลวง คือ 1. มีที่ตั้งส านักงานอยู่บริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน มีชาวต่างชาติ (จีน ไต้หวัน) เป็นหัวหน้า มีพนักงานเป็นคนในพื้นที่เป้าหมาย (ไทย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ จีน ฯลฯ) ทำหน้าที่เป็นมิจฉาชีพ (Scammer) 2. ใช้ระบบการสื่อสารทางเสียง หรือส่งข้อความผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างระบบ VoIP (Voice over Internet Protocol) ระบบ Sim Box หรือ GSM Gateways โดยไม่ต้องผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ของประเทศนั้น ๆ 3. หลอกให้เหยื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้า จากนั้นจะโอนเงินต่อไปยังบัญชีม้าอื่นอีกหลายทอด หรือฟอกเงินผ่านการซื้อ - ขายสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือหลอกให้เหยื่อโอนเข้าบัญชีผู้ค้าสกุลเงินดิจิทัลโดยตรงเพื่อฟอกเงินผ่านทรูมันนี่ หรือบัญชีม้า สำหรับบัญชีม้าผู้เปิดส่วนใหญ่รับรู้ว่าต้องไปเป็นบัญชีม้า เพราะได้รับเงินค่าจ้าง ประมาณ 3,000 - 3,500 บาท แต่ยังคงมีผู้ที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้าอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับวิธีการหลอกลวงมักใช้วิธีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า เจ้าหน้าที่การประปา พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัทขนส่ง พนักงานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเจ้าหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการหลอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับโชคในรูปแบบต่าง ๆ การหลอกจ้างทำงานออนไลน์ และการหลอกให้รักหรือลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง เป็นต้น ถึงแม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทราบวิธีการ ขั้นตอนการเดินทางข้ามชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว หากส่งคนไปเฝ้าแล้วจับกุมจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สมควรใช้วิธีการที่สามารถเข้าไปถึงผู้บริหารระดับสูงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
พลตำรวจโท วันไชย กล่าวด้วยว่า วุฒิสภามีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญที่เกี่ยวข้องหลายคณะ อาทิ กมธ.การกฎหมายและการยุติธรรม กมธ.การต่างประเทศ กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม กมธ.การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง กมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม และ กมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการการแก้ไขปัญหา จึงขอเสนอให้วุฒิสภาตั้ง กมธ. วิสามัญขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรง โดยมีการกำหนดมาตรการการป้องกันให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไป
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง