นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปอท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล(ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด สู้ให้สุด หยุดการโกง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ของผู้นำทางการเมืองและทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาการทุจริต พร้อมให้สังคมไม่ทนต่อการทุจริตและยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (CPI : Corruption Perception Index) ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ แม้จะสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการต่อต้านการทุจริต ภายใต้การเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต แต่ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยยังเป็นปัญหาเรื้อรังและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งยังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตของประเทศไทยนั้น แม้จะดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตนเห็นว่าหากรัฐบาลประกาศปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติจะช่วยยกระดับการแก้ปัญหาและสร้างความตระหนักในทุกภาคส่วนให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินการตามนโยบาย วางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะสั้น มุ่งเพิ่มคะแนนดัชนี CPI ของประเทศให้สูงขึ้น 5 อันดับ ภายใน 2 ปี ส่วนระยะกลาง มุ่งลดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐลงให้ได้ 50% และระยะยาว คือการสร้างวัฒนธรรมที่โปร่งใสในหน่วยงานรัฐทุกระดับ เร่งรัดการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริต อาทิ ร่างพระราชบัญญัติมาตรการการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ ดังนั้น ตนจึงขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีว่า หากรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติการผลักดันกฎหมายให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เชื่อมั่นว่าจะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาการทุจริต และทำให้ สถานการณ์การทุจริตลดลง เพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ของประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง