4 ธ.ค.67- กมธ.การเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา จัดสัมมนา “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568” พร้อมชง 5 ข้อเสนอไปยังรัฐบาล “เน้นหารายได้เพิ่ม-ลดการขาดดุล-ใช้งบให้เกิดประสิทธิภาพ-ทบทวนโครงการประชานิยมที่ไม่จำเป็น-รักษากรอบวินัยการคลังเคร่งครัด”

image

        คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก พลิกตำราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568” World Economic Pulse to Turnaround Thailand Economic Crise 2025 โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วม ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ

        นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะ กมธ. กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายแต่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและต้นทุนการผลิตของธุรกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน หรือสงครามในยูเครนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและสร้างความผันผวนในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางแผนเศรษฐกิจให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่หลากหลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

        ประธาน กมธ. กล่าวถึงข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า ต้องเตรียมแผนเชิงนโยบายทั้งระยะกลาง และระยะยาว จำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องกระแสเงินสด ควรวางแผนวงรอบการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐ รวมทั้งความจำเป็นต้องควบคุมการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเท่าที่จำเป็น และบริหารการนำส่งและการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณของทุนหมุนเวียนและกองทุนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดรับจ่ายของรัฐบาลจะช่วยลดผลกระทบการขาดดุลเงินสด และการใช้วงเงินตั๋วเงินคลังได้ดีขึ้น 2. การใช้นโยบายการคลังที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาคเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างแม้ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลา การหา Engine Growth ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แต่ไม่ละเลยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังได้ อาทิ หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจรายย่อย ซึ่งจะไปลดทอนประสิทธิภาพกลไกการทำงานให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตตามที่ควรจะเป็น 3. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยคำนึงถึงโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้งบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรงบรายจ่ายลงทุนมีสัดส่วนเพียงพอในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน 4. พิจารณาทบทวนนโยบายในลักษณะประชานิยม หรือโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ หรือเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อลดผลกระทบของการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ 5. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามกรอบการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล

        ภายในงานสัมมนามี Special Talks หัวข้อ จับชีพจรเศรษฐกิจโลก 2568 Scanning the Geo-Politic Challenges โดยนายสุรพงษ์ ชัยนาม นักการทูตและนักวิชาการ การเสวนา Discussion Panel : “4 Generation พลิกตำรฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2568” โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสานักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เกียรตินาคินภัทร และมีนายวีระ ธีรภัทร นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน คอลัมนิสต์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการคลัง การเงิน และตลาดทุน ส่งเสริมการวางแผนและการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2568 และอนาคต 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา  ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ