นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ว่าบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งแบ่งเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนคาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด ได้รับผลกระทบพอประมาณ ส่วนอีกโซนหนึ่งคือลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ได้แก่ อำเภอสะเดา อำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอหาดใหญ่ ช่วงที่ผ่านมามีการเฝ้าระวัง ระดับน้ำเนื่องจากมีน้ำท่วมขังหลายจุดคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงแต่สามารถผ่านวิกฤติไปได้ ส่วนในพื้นที่ 4 อำเภอของลุ่มน้ำเทพา - นาทวี เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ลุ่มน้ำนี้ถือว่าสถานการณ์หนักสุดในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยเฉพาะอำเภอสะบ้าย้อย ที่เป็นต้นน้ำของคลองเทพา ไหลผ่านอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา ก่อนจะออกสู่ทะเลอ่าวไทย ส่วนอำเภอนาทวีซึ่งเรียกว่าต้นน้ำคลองนาทวี ไหลผ่านอำเภอนาทวี อำเภอจะนะ และไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยเช่นเดียวกัน โดยสรุปแล้วทั้ง 4 อำเภอ เป็นอำเภอคู่ขนานที่รับมวลน้ำก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย
นายณัฎฐ์ชนน กล่าวต่อไปว่ามวลน้ำจากอำเภอนาทวี จะไหลมารวมกับมวลน้ำอำเภอจะนะก่อนลงสู่ทะเลอ่าวไทย มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย กับพื้นที่อำเภอนาทวีฝนตกหนักมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. ส่งผลให้น้ำท่วมขังและไหลไปยังทุกหมู่บ้านในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านติดเกาะไม่สามารถออกไปไหนได้ ขณะนี้มวลน้ำเริ่มไหลจากอำเภอนาทวีไปยังอำเภอจะนะ และมวลน้ำจากอำเภอสะบ้าย้อยไหลลงไปสู่อำเภอเทพา ทำให้สองอำเภอในขณะนี้น้ำท่วมสูงเป็นอย่างมาก โดยในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับประชาชน
สำหรับสาเหตุการเกิดอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 36 ปีนั้น นายณัฎฐ์ชนน กล่าวว่าโดยปกติทุกปีฝนจะไม่ตกติดต่อกันนานขนาดนี้ แต่ในปีนี้มีฝนตกมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. ซึ่งนับว่าฝนตกลงมาอย่างหนักถึง 4 วัน 4 คืน ปกติแล้วหากฝนตกเพียง 2 - 3 วันจะสามารถระบายมวลน้ำได้ทัน ประกอบกับเกิดน้ำทะเลหนุนในฝั่งอ่าวไทย ทำให้น้ำที่จะระบายแทนที่จะลงทะเลกลับถูกหนุนขึ้นมาอีกจึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก อย่างไรก็ตามการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (27 พ.ย. 67) ตนได้หารือร่วมกับนายอำเภอทั้ง 4 อำเภอ เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมวางแผนช่วยเหลือประชาชน จากนั้นได้ลงพื้นที่ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวีเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ถนนถูกตัดขาดหลายสาย ทำให้ไม่สามารถไปลงพื้นที่ได้ทุกอำเภอ โดยกำลังหลักในขณะนี้คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้อพยพประชาชนมายังศูนย์พักพิง พร้อมแจกจ่ายอาหารเพื่อยังชีพในเบื้องต้น แต่ปัญหาใหญ่คือประชาชนในทุกพื้นที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อกักตุนได้ จึงอยู่ระหว่างการวางแผนว่าต้องดำเนินการอย่างไรในการแจกจ่ายอาหาร รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง