6 พ.ย.67- สส.พริษฐ์ พรรคประชาชน เสนอทำประชามติ 2 ครั้ง เดินหน้าตั้ง สสร. หวังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จทัน ก่อนเลือกตั้งสมัยหน้า ไม่กังวลหลังพรรคภูมิใจไทยส่งสัญญาณอาจเห็นตามแนวทางเสียงข้างมากสองชั้นของที่ประชุมวุฒิสภา

image

        นายพริษฐ์  วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า ตนได้เคยให้ความเห็นไปแล้วว่าหากรัฐบาลยึดแผนเดิมว่าจะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง และจะไม่ทำประชามติครั้งแรก จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ แล้วเสร็จ ตนเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป เพราะรัฐบาลตั้งใจให้การทำประชามติครั้งแรกเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้นปี 2568 แต่หากร่างกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปจึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กรอบเวลาต่าง ๆ จะเป็นจริงได้ ดังนั้น ตนและพรรคประชาชนมีข้อเสนอให้ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งให้เหลือ 2 ครั้ง ถือว่าเพียงพอแล้ว 

        โฆษกพรรคประชาชน กล่าวด้วยว่า ตนได้เตรียมขอเข้าพบ 3 บุคคลสำคัญ ได้แก่ 1.ประธานรัฐสภา โดยเบื้องต้นได้นัดหมายวันที่ 27 พ.ย.นี้ เพื่อหารือถึงการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ขัดต่อกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 2. นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งตนตั้งใจเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันในการทำประชามติ 2 ครั้ง พร้อมทั้งเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบแนวทางดังกล่าวด้วย และ 3. ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนกับว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำมาจากประชามติถึง 3 ครั้ง และพร้อมที่จะเดินหน้าทำประชามติ 2 ครั้ง

        นายพริษฐ์ กล่าวถึงข้อสังเกตว่า กมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย อาจสนับสนุนแนวทางที่ สว. เห็นว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด แต่พิจารณาจากผลการลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นว่าทุกพรรคยืนยันตามร่างของ สส. มีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวที่งดออกเสียงในวันนั้น แต่เรื่องนี้ยังต้องหารือกับคุยกันภายใน กมธ. ร่วมกันฯ ส่วนกรอบเวลาพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ จะใช้เวลานานหรือไม่นั้น ตนคาดหวังว่า ที่ประชุมสภาฯ จะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีเรื่องเดียวที่ยังมีความเห็นต่างกัน คือ การทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น (Simple Majority) หรือเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority)

ณัฐพล  สงวนทรัพย์   ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ