พันตำรวจโท สุริยา บาราสัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมอนุ กมธ. โดยมีวาระพิจารณาแนวทางการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่องสิทธิการลาคลอดของลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ โดยอ้างอิงจากอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อมูลจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่แนะนำให้มารดาต้องเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องให้อาหารอื่นผสมอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 180 วัน ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ที่ประเทศได้ให้สัตยาบัน ทั้งนี้ อนุ กมธ.จะมีการพิจารณาในรายละเอียดเพื่อจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุม กมธ.การแรงงานในอาสกต่อไป
พันตำรวจโท สุริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมอนุ กมธ. ได้พิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมการจ้างงาน การให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแพลตฟอร์ม โดยพบว่า แรงงานแพลตฟอร์มมีสถานะเป็นผู้รับจ้างอิสระที่ขาดความมั่นคง ไม่มีหลักประกันทางสังคม ไม่มีรายได้แน่นอน และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นลูกจ้าง จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ที่ประชุมอนุ กมธ. เห็นว่าควรมีนโยบายที่ชัดเจนและแก้ไขนิยาม “ลูกจ้าง” ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง