6 พ.ย. 67 - สส.สรพัช พรรคประชาชน ขอหน่วยเร่งแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่จังหวัดสระบุรี กระทบการใช้น้ำเพื่อเกษตร – ประปาครัวเรือน เสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นตรวจสอบต้นตอน้ำเน่า และระยะยาวต้องผลักดันการบำบัดน้ำเสียเป็นวาระหลักด้านสิ่งแวดล้อม  

image

          นายสรพัช ศรีปราชญ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดสระบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) เปิดเผยถึงปัญหาน้ำเน่าเสียซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ขณะนี้ ว่าจุดเริ่มต้นของน้ำเน่าเสียมาจากคลองห้วยเกตุ ในพื้นที่ ตำบลกุดนกเปล้า ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองได้รับกลิ่นเหม็นจนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ปัจจุบันน้ำเน่าเสียไหลลงอ่างเก็บน้ำคลองเพรียว และน้ำในแหล่งน้ำดังกล่าวถูกปล่อยไปยัง 2 เส้นทาง ได้แก่ คลองชลประทาน เป็นน้ำที่ส่งต่อให้กับเกษตรกรซึ่งเริ่มส่งกลิ่นและมีสีดำขุ่น และแม่น้ำป่าสัก ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของเทศบาลเมืองสระบุรี หล่อเลี้ยงประชาชนที่ใช้น้ำประปาจากเทศบาลเมืองสระบุรีกว่า 6 หมื่นคน ขณะนี้ประชาชนเกิดอาการผื่นคัน แม้ปัจจุบันเทศบาลเมืองสระบุรีได้ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นเรื่องการผลิตน้ำประปาแล้ว โดยปิดการจ่ายน้ำให้ประชาชนในช่วงเวลา 21.00 นาฬิกา เพื่อบำรุงรักษาระบบการจ่ายน้ำ และเปิดใช้บริการอีกครั้งช่วง 03.00 – 04.00 นาฬิกา แต่วิธีนี้ยังกระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนเพราะประชาชนจำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ใช้

        นายสรพัช กล่าวว่าที่ผ่านมาตนเองได้ติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎร เช่น ปรึกษาหารือ 3 ครั้ง นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และล่าสุดได้ยื่นกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าวาระการประชุม อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ของ กมธ.สาธารณสุขฯ และประชุมร่วมกับจังหวัดสระบุรี ได้ข้อสรุปว่าจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงผู้แทนจากภาคประชาชน แต่ยังไม่มีมาตรการระยะสั้นหรือมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนออกมาเพิ่มเติม

       นายสรพัช ยังกล่าวถึงข้อเสนอของตนเองเพื่อแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาสาเหตุของปัญหาน้ำเน่าเสียและเข้าไปตรวจสอบ ชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมา หากสาเหตุมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ต้องให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำแผนการบำบัดน้ำเสีย และต้องมีวิศวกรสิ่งแวดล้อมระดับสามัญวิศวกรเซ็นรับรอง แต่หากเกิดจากน้ำเสียชุมชน ต้องให้ท้องถิ่นสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ก่อนปล่อยลงคลอง ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศ ตามข้อเสนอในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... หรือกฎหมาย PRTR ของ ปชน.ที่ขณะนี้บรรจุวาระในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมทุกหน่วยงานและต้องมีผู้แทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ เพื่อยกระดับการควบคุมน้ำเน่าเสียระดับจังหวัด และรัฐบาลต้องยกระดับนโยบายรัฐเรื่องการบำบัดน้ำเสียชุมชน ให้เป็นวาระหลักด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ