6 พ.ย. 67 – กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา แนะแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฯ หนุนกลไกการทำงานระดับพื้นที่เฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 พร้อมสร้างระบบเตือนภัยความเสี่ยงคุณภาพอากาศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน แก้ปัญหามลพิษข้ามแดน

image

             นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม

            ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในหลายประเด็น อาทิ การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ สามารถบูรณาการความร่วมมือกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสุขภาพ อนามัย และความปลอดภัยของประชาชน โดยเป็นเครื่องมือในการหนุนเสริมกลไกการทำงานในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกันเหตุการเตือนภัยและการเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล/ การจัดพื้นที่ปลอดภัยรองรับคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ด้วยการจัดพื้นที่อากาศสะอาดในสถานพยาบาล สถานศึกษา และครัวเรือน ตลอดจนการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที /การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง โดยการสนับสนุนเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศรายพื้นที่ เพื่อรายงานข้อมูลสภาพอากาศและประเมินความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายของประชาชน พร้อมกำหนดให้ภาครัฐบริการระบบเตือนภัยความเสี่ยงจากคุณภาพอากาศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ SMS Alert Line Application ระบบหมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเฝ้าระวังภัยที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพ/ การส่งเสริมกระบวนการแจ้งเหตุเมื่อพบเจอการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบในการสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และพิจารณากำหนดโทษทางพินัยสำหรับโทษในการก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

            ส่วนการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ควรเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมลพิษข้ามพรมแดนด้วยการบูรณาการข้อมูลทางวิชาการ การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น ตลอดจนการเอาผิดผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและก่อปัญหามลพิษข้ามพรมแดน และให้การสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้สามารถนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น การอุดหนุนเงินในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาป่า การส่งเสริมโปรแกรมรักษาสุขภาพ การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการลดผลกระทบจากมลพิษฝุ่น PM 2.5

 

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ