29 ต.ค.67- รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา พร้อมหารือบทบาทของรัฐสภาไทยในการปรับปรุงกฎหมาย และพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ เพื่อเป็นกลไกทำงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

image

        นายภราดร  ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรอง นายมาทีอัส  คอร์มันน์  เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 29 - 31 ต.ค. 67 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยมี นายพลพีร์  สุวรรณฉวี รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ คนที่สาม นายศุภโชค ศรีสุขจร และนายชลัฐ  รัชกิจประการ โฆษกคณะ กมธ.การต่างประเทศ นายณัฏฐกฤษฎ์  วงศ์เจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นางสาวรุจิกร  แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง ณ ห้องรับรองพิเศษ 207 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

        รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวแสดงความยินดีที่เลขาธิการ OECD มาเยือนรัฐสภา โดยรัฐสภาไทยยินดีขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งให้การสนับสนุนหากมีการเสนอเรื่องเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD มาให้รัฐสภาพิจารณาถึงแม้ว่ารัฐสภาไทยจะประกอบด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นว่าทุกพรรคการเมืองมุ่งหวังที่จะเห็นการพัฒนาของประเทศเช่นเดียวกัน

        นายมาทีอัส  คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD กล่าวถึงการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ว่า เมื่อเดือน ก.ค.67 OECD ได้เห็นชอบต่อร่างแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย สำหรับกระบวนการการเข้าเป็นสมาชิกคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 5 – 7 ปี และต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองฝ่าย ปัจจุบัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศอินโดนีเซียและไทยที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่ง OECD ยินดีสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทย อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ตลอดจนการให้ความเห็นชอบในการเข้าเป็นสมาชิก OECD จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาไทยในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระชับการทำงานกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่าย โดยอาจมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ ระหว่างกันขึ้น (Friends of OECD) เพื่อเป็นกลไกในการทำงานกันอย่างใกล้ชิด

 

ข้อมูล/ภาพ กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ