นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค. 67) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนจะปิดสมัยประชุม สิ่งที่อยากให้จับตามอง คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่มีทั้งหมด 3 ร่าง โดยจะมีการลงมติขั้นรับหลักการ ตั้งคณะกรรมาธิการ และที่สำคัญ คือ จะเลือกว่าร่างใดจะเป็นร่างหลักในการพิจารณา ซึ่งจากมติวิปรัฐบาลครั้งที่ผ่านมาจะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก แต่เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 67) ก็มีการกลับมติของวิปรัฐบาลว่าจะใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ หากติดตามการแถลงข่าว Policy Watch ของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จะพบว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เนื่องจากหากไปดูเนื้อหาร่างของพรรคเพื่อไทย มีการตัดทอนเนื้อหาในหลายมาตราและมีการยัดไส้ในหลายมาตรา ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเอื้อให้เอกชนที่เป็นผู้สัมปทานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรถ การคุ้มครองผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง เพื่อให้เอกชนไม่ต้องชดเชยในกรณีที่ล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวรถ รวมถึงยังมีการลดอำนาจในการตรวจสอบของรัฐที่จะเข้าไปตรวจสอบผู้สัมปทานของรัฐ มีการเปิดช่องให้เอกชนสามารถถือกรรมสิทธิ์ของรางได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่จะต้องเป็นของรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายมาตราที่ชวนให้สงสัยว่าใครกันแน่ที่ยัดไส้ร่างดังกล่าวมาใส่มือพรรคเพื่อไทย อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังเสนอในนามพรรคตัวเอง และเสนอในวิปรัฐบาลให้ร่างนี้เป็นร่างหลัก เพื่อจะเอื้อให้กับเอกชนและลดการคุ้มครองประชาชน ลดผลประโยชน์ของประชาชนและของรัฐในอนาคต
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ของพรรคประชาชนที่เสนอโดยนายสุรเชษฐ์ ในสภาฯ ชุดที่แล้ว มีการพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่มีนายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกรรมาธิการฯ และได้พิจารณาเสร็จแล้ว หลังจากที่ทำงานมาเป็นระยะเวลานาน เพียงแต่มีการยุบสภาฯ ไปก่อน ทำให้ร่างนั้นตกไป และเชื่อว่าหากในสมัยประชุมนี้ เริ่มต้นจากการนำร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลักในการพิจารณาจะทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากเป็นร่างที่ผ่านการพูดคุยมาหลายขั้นตอนแล้ว ต่างจากร่างของคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีอะไรเลย ดังนั้น จึงมองว่าหากรัฐบาลไม่กลัวเสียหน้า อยากจะให้โหวตร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลักในการพิจารณา
นอกจากนี้ นายปกรณ์วุฒิ ยังให้สัมภาษณ์กรณีการทำความเข้าใจกับรัฐบาลในการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ในสมัยประชุมหน้า โดยระบุว่า ในมุมมองส่วนตัว หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดมาทั้งจากสมัยประชุมที่แล้ว ก่อนการเลือกตั้ง กระทั่งผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว พรรคเพื่อไทยเข้าใจดีเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่ ตนไม่แน่ใจว่าด้วยข้อจำกัดอะไรที่ทำให้ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากดูจากรายงานนิรโทษกรรมที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีการศึกษาและสภาฯ โหวตคว่ำข้อสังเกตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าในจำนวน 8 คน ของกรรมาธิการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย มี 4 คนที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมรวมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข จำนวน 2 คนไม่เห็นด้วย และอีก 2 คน ไม่ให้ความเห็น เนื่องจากเป็นประธานกรรมาธิการฯ และเป็นเจ้าของญัตติจึงใช้สิทธิในการงดออกเสียง ตนจึงต้องตั้งคำถามกลับว่าตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามาประกบร่างของพรรคประชาชนและพรรคอื่น ๆ ในสมัยประชุมหน้าหรือไม่ อยากทราบจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในการแก้ปมความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานมาหลายปีอย่างไร
ส่วนกรณีที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคเตรียมคว่ำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคประชาชนนั้น ประธานวิปฝ่ายค้าน ย้ำว่า จะต้องพูดคุยและสื่อสารทั้งในส่วนของพรรคการเมืองและสังคมว่า เจตนาที่แท้จริงของพรรคประชาชน คือ อะไร ซึ่งในสภาฯ ตนเข้าใจว่าสุดท้ายต้องเคารพเสียงข้างมาก แต่ยังต้องฝากว่าหากพรรคเพื่อไทยจะนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงจากที่พรรคประชาชนเสนอ ก็อยากให้เปิดโอกาสให้หลายคนที่กระทำความผิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานความผิดใดหรือด้วยแรงจูงใจทางการเมืองใด มีโอกาสได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อนำไปสู่ความปรองดองของสังคม พรรคประชาชนยินดีที่จะเห็นชอบกับร่างที่มีหลักการ และอยากให้พรรคเพื่อไทยระลึกว่าทุกพรรคการเมืองต่างมีความคิด มีหลักการและอุดมการณ์เป็นของตัวเอง และย้ำว่าแม้ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกันในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในด้านการทำงาน หากมีหลักการพรรคประชาชนยินดีที่จะเห็นชอบกับร่างกฎหมาย และญัตติใด ๆ ก็ตาม ที่สอดคล้องกับหลักการของพรรคประชาชน ไม่ว่าจะเสนอโดยพรรคการเมืองใด
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง