นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมคณะ โดยขอสนับสนุนรายงานการพิจารณาศึกษาของกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (24 ต.ค. 67) โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนคาดหวังให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างรายงานดังกล่าว ขอให้กำลังใจ กมธ.วิสามัญฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน
นางสาวพูนสุข กล่าวว่าปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ.ซึ่งมีหลักการเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองจำนวน 4 ฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนประกอบไปด้วยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนกว่า 23 องค์กร ซึ่งมีภารกิจหลักในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชน จึงขอสนับสนุนการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดันการนิรโทษกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,960 คน ใน 1,305 คดี และปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 37 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 22 คน และมีข้อสังเกตว่าแม้คดีมาตรา 112 จะมีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 300 คนแต่ในจำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง 37 คนนี้เป็นคดีมาตรา 112 มากถึง 25 คนซึ่งนับว่าเป็นฐานความผิดที่มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองมากที่สุด เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงมองว่ารายงานการพิจารณาศึกษาของกมธ.วิสามัญเป็นเพียงความเห็นของ กมธ.ที่ไม่ได้มีความผูกพันต่อรัฐบาลหรือมีสถานะในทางกฎหมายแตกต่างจากด้านกฎหมายที่เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะมีผลบังคับใช้ต่อบุคคลทั่วไป นอกจากนี้กล่าวด้วยว่าคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงและคดีการเมือง ซึ่งประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มาแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 113 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงเป็นคดีการเมืองและได้รับนิรโทษกรรมเช่นเดียวกันทั้งที่มาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญานั้นมีโทษสูงขั้นประหารชีวิตในขณะที่คดีมาตรา 112 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปีความอ่อนไหวของคดีมาตรา 112 จึงไม่ใช่ความอ่อนไหวเนื่องจากลักษณะการกระทำที่เป็นเหตุร้ายแรง อีกทั้งการนิรโทษกรรมเป็นเพียงการแก้ไขเหตุการณ์ให้เสมือนว่าไม่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศเดินหน้าคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ได้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบัน และโทษคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองนั้นเป็นไปในทางส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของประเทศไทยที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลในระบอบสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ด้านนางสาวศศินันท์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าขอขอบคุณภาคประชาชนที่มายื่นหนังสือโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณารายงานของ กมธ. และจะมีการลงมติต่อรายงานดังกล่าว ขอให้ทุกคนช่วยกันติดตาม เพราะรายงานฉบับนี้มีความสำคัญมาก เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ พร้อมยืนยันว่ารายงานการพิจารณาศึกษาของ กมธ. ไม่ได้ผูกพันอะไรจนถึงขั้นที่สภาผู้แทนราษฎร จะไม่รับรายงานได้
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง