29 ต.ค.67 - กมธ. กฎหมายฯ สผ. จัดสัมมนารับฟังความเห็นร่างกฎหมายว่าด้วยขจัดการเลือกปฏิบัติจากองค์กรระหว่างประเทศฯ หวังยกระดับมาตรฐานหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

image

        คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... จากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ” โดยมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (IC) องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNWOMEN) องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประจำประเทศไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (OHCHR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำประเทศไทย (IOM) สำนักงานแรงงานระหว่างประประเทศ ประจำประเทศไทย (LO) และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม ณ ห้อง B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา

        นายกัณวีร์   สืบแสง รองประธานคณะ กมธ. เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา ว่า การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิดังกล่าวตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 ซึ่งเป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... กำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายกลางและเป็นกฎหมายที่วางมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล การกำหนดเกี่ยวกับการรับรองสิทธิของบุคคลที่จะปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ที่ตนกับคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหาแนวทางการตรากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ. การกฎหมายฯ เห็นว่าควรมีการหารือกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มาตรฐานตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เป็นต้น ซึ่งการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ จะทำให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ในร่างกฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชนเผ่าฯ แล้ว ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยขจัดการเลือกปฏิบัติฯ นั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ นอกเหนือจากตัวแทนที่มาจากส่วนราชการเท่านั้น ซึ่งตนคาดหวังว่าในสมัยประชุมหน้าจะสามารถผลักดันร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

        สำหรับการสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ นางสาวจารุณี  ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย และนายเสถียร  ทันพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์   ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ