ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ. คำสั่งอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งมายังวุฒิสภาเมื่อ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากวุฒิสภาได้รับร่าง พ.ร.บ.แล้ว ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา จำนวน 21 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
สำหรับการตราร่าง พ.ร.บ. คำสั่งอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้มีเครื่องมือที่มีสภาพบังคับทางกฎหมายในการสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมาธิการซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญ ใน 7 ประเด็น คือ 1) กำหนดนิยามคำว่าคณะกรรมาธิการให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมาธิการที่รับการแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และกำหนดนิยามคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็น ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ และบุคคลหรือคณะบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจทางปกครองด้วย 2) กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการเรียกเอกสารจากบุคคลหรือการเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง โดยบุคคลที่ต้องปฏิบัติตามอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการนั้น จะต้องมีระยะเวลาในการปฏิบัติ ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ และในกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมาธิการจะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐธมนตรีที่รับผิดชอบหรือกำกับดูแลเพื่อพิจารณาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นมาเข้าร่วมประชุมต่อคณะกรรมาธิการ 3) กำหนดสิทธิประโยชน์ต่อบุคคลที่มีมาแถลงข้อเท็จจริง ให้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด 4) กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบวัตถุ เอกสารหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการ รวมทั้งข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่มีหน้าที่จัดทำและเผยแพร่ หรือรับรองความถูกต้องของบันทึกการประชุม รายงานการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการด้วย 5) กำหนดกลไกตรวจสอบ กรณีกรรมาธิการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โดยให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม 6) กำหนดมาตรการบังคับให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ไม่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจัดส่งเอกสารหรือมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้นั้นต้องมาชี้แจงเหตุและผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วแต่กรณี และ7) กำหนดมาตรการเชิงลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจส่งเอกสาร หรือให้ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จแก่คณะกรรมาธิการ โดยให้ถือว่าไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ และเป็นความผิดทางวินัย โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอนถอด เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง