8 ม.ค.68- ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 ด้าน รมช.กระทรวงการคลัง ชี้จำเป็นต้องเก็บภาษีกับกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่จากการประกอบกิจการในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 สอดคล้องกับมาตรฐานของนานาชาติ หวังสกัดการถ่ายโอนกำไรเพื่อเลี่ยงภาษี และเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

image

        ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 ครม. ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. …. และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.67 โดยให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Model Rules) ซึ่งมีแนวทางสากลที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างภาคีสมาชิกของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองว่าอัตราภาษีที่แท้จริงของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่จากการประกอบกิจการในแต่ละประเทศนั้นต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 หากน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวในประเทศใด ประเทศอื่นที่ปรับใช้มาตรการดังกล่าวมีสิทธิจัดเก็บภาษีส่วนที่ยังขาดอยู่ หรือที่เรียกว่าภาษีส่วนเพิ่ม (Top up Tax) แทนได้ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการใช้มาตรการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นการรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยจากภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งจะต้องเริ่มคำนวณภาษีส่วนเพิ่มตั้งแต่ปี 2568 จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้

        นายจุลพันธ์ กล่าวชี้แจงถึงสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ว่า ประกอบด้วย 1. กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเป็นกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกลุ่มนิติบุคคคลข้ามชาติของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยที่มีรายได้ตามงบการเงินรวมของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้าที่พิจารณาหน้าที่ในการเสียภาษีส่วนเพิ่มจะต้องเสียในอัตราภาษีที่แท้จริง ร้อยละ 15 2. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มจะต้องยื่นแบบรายงานข้อมูลตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ (Globe Information Return) และชำระภาษีส่วนเพิ่มภายใน 15 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม หากเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่อยู่ในบังคับต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มให้ขยายเวลาเป็น 18 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ได้ ทั้งนี้ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 เป็นไปแนวทางเดียวกับมาตรฐานที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดทำขึ้น ดังนั้น กฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของไทยจึงเป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับต่างประเทศ

        รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาต่างประเทศมีการแข่งขันกันให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งทำให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีการเก็บภาษีต่ำโดยที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ น้อย อันกระทบกับความยั่งยืนทางการคลังของประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.64 ที่ประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้เห็นชอบแนวทางตามหลักการจัดเก็บภาษีกับนิติบุคคลข้ามชาติ แบ่งเป็น Pillar 1 การจัดสรรสิทธิการจัดเก็บภาษีให้แก่ประเทศที่นิติบุคคลข้ามชาติมีกิจกรรมเศรษฐกิจอยู่ และ Pillar 2 การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยประเทศที่ต้องการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกนั้น แต่ละประเทศสามารถดำเนินการออกกฎหมายภายในของประเทศตนเองได้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 142 ประเทศได้ตกลงดำเนินการมาตรการนี้แล้ว และมี 28 ประเทศ ที่มีกฎหมายบังคับใช้แล้วในรอบปี 2567 และคาดว่าปี 2568 ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดังนั้น ตนเห็นว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จะพิจารณาอนุมัติกฎหมายภาษีเพิ่มเติมฉบับนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ทางภาษีตามาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศของไทยต่อไป

        ทั้งนี้ ภายหลังจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้มีการอภิปรายกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวางแล้ว ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 415 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 4

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ