7 พ.ย. 67 - กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา แนะ การแก้ปัญหาการเกิดภัยพิบัติควรคำนึงถึงการป้องกันโดยใช้หลักทางวิศวกรรม การบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำ มีหน่วยงานกลางบูรณาการข้อมูลข่าวสาร Big data และร่วมบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

image

             นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ

             โดยมี ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมให้ข้อมูลต่อ กมธ.ว่า การกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ได้มีการเน้นย้ำ 2 มาตรการสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมและการเผชิญเหตุ ส่วนการแจ้งเตือนภัย เป็นการแจ้งเตือนภัยหน่วยงาน และแจ้งเตือนถึงประชาชนโดยตรง หากได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพยากรณ์จะทำการวิเคราะห์ข้อมูล และส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทำการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และการเตรียมความพร้อมทรัพยากร และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ประจำ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นและเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังพบปัญหาอุปสรรคด้านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและด้านงบประมาณ

             ด้าน กรมพัฒนาที่ดิน ให้ข้อมูลว่า สาเหตุของการเกิดดินถล่มมีสาเหตุมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับอัตราการสูญเสียเนื้อดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวเร่งคือการใช้ที่ดินและปริมาณน้ำฝน ซึ่งแนวทางการป้องกันดินถล่ม ได้แก่ การทำโซนนิ่ง การติดตั้งระบบเตือนภัย การใช้มาตรการทางโครงสร้างและการจัดการทางวิศวกรรมในพื้นที่ภูเขา รวมทั้งกำหนดมาตรการทางกฎหมายบังคับใช้ในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ

             ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ข้อจำกัดของการดำเนินงาน คือ ด้านงานงบประมาณและอัตรากำลัง จึงขอเสนอให้มีแผนงานบูรณาการด้านที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดที่ดินมีงบประมาณเพียงพอต่อการดำเนินงานและสอดคล้องกัน

             ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะว่า การแก้ปัญหาการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งควรคำนึงถึงการป้องกันโดยใช้หลักการทางวิศวกรรม การบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รวมไปถึงการมีหน่วยงานกลางบูรณาการด้านข้อมูลข่าวสารในลักษณะ Big data หรือ Cyber Security AI และมีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ