18 พ.ค.67 - สส.เซีย พรรคก้าวไกล มั่นใจการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการรุนแรงถึงขั้นปิดกิจการ แนะรัฐหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย พร้อมจัดสวัสดิการที่ดีให้กับแรงงาน เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพ

image

        นายเซีย  จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.67 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่แรงงานอยากให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานก็ยังมีความกังวลว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ส่วนข้อกังวลว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การเลิกจ้างหรือลดจำนวนแรงงานลงได้นั้น นายเซีย กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำเดิมวันละ 300 บาทนั้น แรงงานแทบจะไม่สามารถอยู่ได้ ส่วนตัวเห็นว่า ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น หากส่งผลกระทบภาครัฐก็จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องเข้าไปช่วยลดต้นทุนด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2554 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาททั่วประเทศ ก็ไม่มีสถานประกอบการใดย้ายฐานการผลิตหรือยกเลิกกิจการ แต่ครั้งนี้เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำบางจังหวัด 350-375 บาทต่อวัน เป็น 400 บาทต่อวัน ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อนายจ้างจนถึงขั้นปิดกิจการ

        นายเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงาน เพราะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลสำรวจวิจัยที่ผ่านมาพบว่า รายได้ที่พอกับการใช้จ่ายควรอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ ผลสำรวจข้อมูลของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2565 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ 2 คน อยู่ที่ 723-789 บาทต่อวัน ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงมีนโยบายเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 450 บาทต่อวัน ร่วมกันมาตรการช่วยเหลือแรงงาน อาทิ เงินอุดหนุนเด็ก การจัดรถรับส่ง และเงินบำนาญถ้วนหน้า เป็นต้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงให้สูง แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือสวัสดิการแรงงานด้วย ถ้าประชาชนมีสวัสดิการ มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูง นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่รัฐควรให้ความสำคัญ คือ การให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการปิดกิจการ ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งลอยแพลูกจ้าง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการกำกับดูแล และกระทรวงแรงงานต้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ กลุ่มไรเดอร์ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนเข้าไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ขึงเปิดช่องให้แรงงานบางส่วนใช้วิธีลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น ตนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ