นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธานกรรมาธิการฯ และ นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ กรรมาธิการ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ครอบคลุมทั้งหมด 10 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป/หมวด 2 คณะกรรมการและองค์กรเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด/ หมวด 3 เครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด /หมวด 4 การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษ /หมวด 5 เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและเขตประสบมลพิษทางอากาศ/ หมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด/ หมวด 6/1 กองทุนอากาศสะอาด หมวด 7 (ยุบรวมในหมวด 2) เจ้าพนักงานอากาศสะอาด /หมวด 8 ความรับผิดทางแพ่ง/ หมวด 9 โทษทางอาญา และ หมวด 10 มาตรการปรับเป็นพินัย โดย กมธ. ได้ตัดหมวด 7 ออก และรวมเนื้อหาไว้ในหมวด 2 เพื่อให้โครงสร้างของกฎหมายมีความกระชับและเหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th เป็นระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2568 โดยเนื้อหาในการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ., สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ., และ ประเด็นคำถาม เพื่อประกอบการพิจารณาในขั้นตอนถัดไป ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ของประเทศไทยในการต่อสู้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยในระยะยาว
ด้าน นางสาวคนึงนิจ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ถือเป็นร่างแรกที่เกิดจากการที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อ และนำมาผนวกรวมกับร่างฉบับอื่นจนกลายเป็นร่างฉบับปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาโดย กมธ. ร่วมกัน และถือเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกที่สถาปนาสิทธิในอากาศสะอาดอย่างชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในสิ่งแวดล้อม และขณะนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ยกระดับให้สิทธิในอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดภาระหน้าที่ของรัฐตามทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกัน นายภัทรพงษ์ ได้กล่าวขอบคุณภาคประชาชนที่เป็นผู้ริเริ่มร่างกฎหมายฉบับนี้ และขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญ โดยได้บรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2567 รวมถึงขอบคุณทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งในคณะ กมธ. และคณะอนุ กมธ. ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน จนสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ. นี้ให้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนในอนาคต
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง