21 ก.ค. 68 – สว.เทวฤทธิ์ แจงเหตุเสนอชะลอการเลือก - แต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ย้ำ เจตนาสุจริต ดำเนินการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ความรอบคอบ มุ่งป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่ละเว้นหน้าที่

image

             นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบในญัตติที่ตนเสนอขอให้ชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในคดีที่สมาชิกจำนวนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดตกเป็นคู่กรณี ว่า การที่ตนเสนอญัตติในครั้งนี้ไม่ใช่การเพิกเฉยต่อหน้าที่ แต่เป็นการกระทำด้วยเจตนาโดยสุจริตและยึดหลักความรอบคอบ โดยมุ่งหวังที่จะป้องกันผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การชะลอจึงไม่ถือว่าเป็นความผิด หากไม่ได้เกิดจากเจตนาไม่สุจริต ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างเช่นกรณีคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 13 คน ได้ตัดสินใจลาออกจากคณะกรรมาธิการ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้ร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกเสนอชื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และรักษามาตรฐานความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบ

            นายเทวฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ญัตติที่ตนเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณานั้น สอดคล้องกับหลักการที่วุฒิสมาชิกเคยเสนอไว้ในอดีต โดยเน้นย้ำว่ากระบวนการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนข้อกังวลว่า การชะลอการพิจารณาอาจกระทบต่อการทำงานขององค์กร โดยเฉพาะในแง่ขององค์ประชุมหรือจำนวนกรรมการไม่ครบ นั้น เห็นว่า ปัจจุบันยังมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายปัญญา อุดชาชน ซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการได้ตามกฎหมาย อีกทั้งยังได้ยกตัวอย่างว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อ 2 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ นายชาตรี โสภณพนิช จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากเรื่องการเร่งรัดการแต่งตั้งเป็นประเด็นสำคัญจริงควรมีมติรับบุคคลเหล่านี้ไปตั้งแต่ขณะนั้น ในขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้ว่าจะมีกรรมการบางคนครบวาระเนื่องจากอายุเกิน 70 ปี และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาการได้ตามกฎหมาย แต่จำนวน กกต. ที่เหลือยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ซึ่งได้บัญญัติไว้เพื่อป้องกันสุญญากาศตรงนี้ไว้ โดยกำหนดให้ผู้ที่หมดวาระสามารถดำรงตำแหน่งชั่วคราวได้จนกว่าจะมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่แทน และแม้กรรมการจะเหลือน้อยกว่า 4 คน ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ เท่าที่จำเป็นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้อาจมีผลกระทบบ้างในส่วนของงานธุรการหรือรายละเอียดเล็กน้อย แต่ในภาพรวมงานสำคัญขององค์กรเหล่านี้ยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ โดยมีกฎหมายรองรับและกลไกคุ้มกันไว้แล้วอย่างรัดกุม พร้อมย้ำว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตั้งแต่แรก และได้เลือกที่จะเสนอญัตติให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณากันเอง โดยมิได้ใช้ช่องทางอื่นเพื่อยับยั้งกระบวนการ และยืนยันว่า สว. โดยรวมไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หากแต่กระบวนการที่ล่าช้าในกรณีนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณาที่รอบคอบ และยึดถือหลักนิติธรรม ซึ่งการตัดสินใจชะลอการพิจารณาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ความรอบคอบ และมุ่งเน้นการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่หลีกเลี่ยงหน้าที่ หรือเพิกเฉยต่อบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาแต่อย่างใด

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

 

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ