นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามถาม รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตามที่แถลงไว้กับรัฐสภา ว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งผ่านการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกขนานนามว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่ดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยกลับแย่ลง ซึ่งกรณีการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่พังถล่มจากเหตุตแผ่นดินไหว ก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงปัญหานี้ แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะเดินหน้ามีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็ว แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องนี้กลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และยังไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของรัฐบาล เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ดังนั้น ตนมีคำถามว่ารัฐบาลมีแนวทางเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูฐฉบับใหม่หรือไม่ ปัญหาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีอะไร รวมทั้งกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติ ซึ่งอาจดำเนินการพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้เห็นเจตนารมณ์ประชาชนชัดเจน
รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงถึงการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เดินหน้าต่อได้ยากลำบาก คือ ความขัดแย้งทางแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดทำ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มหมวด 15/1 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งมาจากการประชามติ ดังนั้น หากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องสอบถามประชาชนก่อนว่าประสงค์จะให้มีหรือไม่ และหากประสงค์ก็ต้องทำ และเมื่อร่างเสร็จก็ต้องถามประชาชนอีกครั้งว่าเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวถูกตีความถึงจำนวนครั้งของการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องทำทั้งหมดกี่ครั้ง อาจเป็นได้ทั้ง 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา โดยมีข้อสรุปว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นอกจากนี้ มีการเสนอแก้ไขกฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority) แทนเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) ซึ่งกฎหมายนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ถูกวุฒิสภาเห็นต่าง ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม และสุดท้ายสภาผู้แทนราษฎร ได้ยืนยันร่างกฎหมายเดิมหลังจาก 180 วัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
รศ.ชูศักดิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เนื่องจากในขณะที่รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องจำนวนครั้งของประชามติ และตนเองก็เป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าไม่ควรเสนอร่างแก้ขรัฐธรรมนูญ เพราะหากร่างของ ครม. ไม่ผ่าน หรือมีปัญหาทางกฎหมาย จะส่งผลเสียต่อ ครม. จึงให้พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน เสนอไปก่อน และขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาตีความอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 210 ว่าสามารถบรรจุวาระและพิจารณาต่อได้หรือไม่ และการทำประชามติครั้งแรกหลังรัฐสภาเห็นชอบนั้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด
รศ.ชูศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลมีความแน่วแน่และจริงใที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาการถ่วงดุลอำนาจและที่มาของ สว. ส่วนข้อจำกัดที่ส่งผลต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ยังต้องรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องอาศัยเสียงถึง 1 ใน 3 ซึ่งเป็นเรื่องยาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการทำประชามติแต่ละครั้งสูงกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนกรอบเวลาที่ยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณา อาทิ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวด 15/1 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่คาดว่าจะใช้เวลาเลือกอย่างน้อย 6 เดือน และการทำประชามติแต่ละครั้ง ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 เดือน ดังนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อคำนวณไทม์ไลน์แล้วค่อนข้างยากที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ ภายในวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่รัฐบาลตั้งใจที่จะผลักดันอย่างน้อยที่สุดให้มีการจัดตั้ง สสร. ให้สำเร็จ เพื่อให้ สสร. สามารถเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แม้รัฐบาลจะหมดวาระไปก่อนก็ตาม
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง