21 ก.ค.68- สว.เจียระนัย ตั้งกระทู้ถาม รมช.กระทรวงศึกษาธิการถึงมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา หลังพบสถิติปี 67 คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าทะลุ 9 แสนราย เยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ด้าน “ลิณธิภรณ์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ” ขี้แจงได้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง และเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาสามารถตรวจค้นและยึดได้ พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สธ. พม. ตำรวจ และ สสส. รณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า

image

        นางเจียระนัย  ตั้งกีรติ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามถาม ศ.ดร.นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ” ว่า นิยามของบุหรี่ไฟฟ้าในทางกฎหมาย หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าก่อให้เกิดควัน ละออง ไอน้ำ หรือไอระเหยที่มีลักษณะคล้ายควันบุหรี่ ใช้สำหรับสูบ และรวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่นำมาประกอบเป็นบารากุไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ายุคแรกเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง คล้ายบุหรี่จริง มีชื่อเล่นว่า “ซิกไลท์” และได้วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้พัฒนาเป็น “ทอยพอด” (Toy Pod) หรือแบบของเล่น ซึ่งปรับปรุงรูปลักษณ์ให้เหมือนของเล่น การ์ตูน หรือขนม เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้บุหรี่ไฟฟ้า ได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ราคาถูก มีกลิ่น สี รสให้เลือกมากมาย และมีการสื่อสารที่ให้ข้อมูลผิด ๆ ว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน นอกจากนี้ยังหาซื้อและขายง่ายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า จาก 70,000 กว่ารายในปี 2564 เป็น 900,000 รายในปี 2567 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน แม้พฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยรวมของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนกลับมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าและรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ.2560 ที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ที่บัญญัติว่าห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขาย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ระบุว่าห้ามขายยาสูบให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขาย ห้ามขายในสถานศึกษาทุกประเภท และห้ามสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ อย่างไรก็ตาม แต่ตนตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายออกมาค่อนข้างช้าหลังจากที่บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายไปแล้ว ขณะที่มาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกและแก้ไขกฎกระทรวงห้ามนักเรียนเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า และกำหนดบทลงโทษไว้ 4 สถาน คือ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ 4. ทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ตนตั้งข้อสังเกตว่าบทลงโทษเหล่านี้อาจไม่รุนแรงพอ และไม่สามารถกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ได้ เนื่องจากเด็กและเยาวชนมีกฎหมายคุ้มครองอยู่หลายฉบับ ดังนั้น ตนขอตั้งกระทู้ถามว่า กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร และกระทรวงศึกษาธิการได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

        นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้มาตอบกระทู้ถามแทน ศ.ดร.นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2568 เพื่อเพิ่มข้อความที่เกี่ยวข้องกับ บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า บารากุ ยาบารากุ บารากุไฟฟ้า และสารเสพติด เข้ามาเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งได้ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 4 เม.ย.68 อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าวสามารถควบคุมไม่ให้มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาในโรงเรียนได้ แต่ กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีอำนาจโดยตรงในการตรวจค้นนักเรียน เพื่อหาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จึงอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อป้องกันข้อห้ามต่างๆ รวมถึง การให้อำนาจในการตรวจค้นนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา

       นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยขอความร่วมมือให้กระทรวง พม. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 85 ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. …. เพื่อกำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษามีอำนาจตรวจค้น ยึด และอายัด บุหรี่ไฟฟ้า หรือสารเสพติดอื่นๆ ที่นักเรียนนำมา และนำส่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศมาตรการควบคุมการระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า การจัดให้มีเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถานศึกษาต้องจัดให้มีเครื่องหมายแสดงชัดเจนว่าเป็น "เขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า" พร้อมทั้งกำชับให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้สอดส่องดูแลและป้องกันไม่ให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากร สูบหรือครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีมาตรการลงโทษ 4 ระดับ ประกอบด้วย ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งแจ้งสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัดทั้งหมดให้ประชาสัมพันธ์ป้ายรณรงค์ เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน เน้นย้ำการจัดทำโครงการให้สถานศึกษาปลอดยาเสพติดและอบายมุข โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับตำรวจ จัดอบรมครูและนักเรียน ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) พัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมีสถานศึกษาเข้าร่วมแล้วกว่า 183 แห่ง ตลอดจนร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำคู่มือและกิจกรรมลดนักสูบหน้าใหม่ เช่น โครงการชมรม Gen Z ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเพื่อนนักเรียนเป็นที่ปรึกษา ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นั้นผลักดันมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าผ่านโครงการ To Be Number One รวมถึงการจัดทำหนังสั้นกว่า 23 เรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การใช้ความรุนแรง การบูลลี่ และการคุกคามทางเพศ เพื่อให้นักเรียนอาชีวะเข้าใจและตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการทึ่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีแผนงานทั้งในเชิงกฎหมายและมาตรการป้องกันเชิงรุกร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ