นางสาวมณีรัฐ เขมะวงค์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) กล่าวถึงปัญหาวิกฤตแม่น้ำปนเปื้อนโลหะหนักในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ว่าสืบเนื่องจากประชาชนในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ได้รับความเดือดร้อน และกำลังเผชิญภัยเงียบจากสารพิษโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยมีทุนจีนเข้าดำเนินการผ่านการรับสัมปทานจากพื้นที่กลุ่มว้า ซึ่งตนเคยนำประเด็นนี้สะท้อนผ่านการหารือของที่ประชุมวุฒิสภาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลยังคงแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบตั้งรับ โดยเฉพาะการเตรียมงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท สำหรับการสร้างฝายดักตะกอนทั้งที่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างได้จริง และยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับพื้นที่ในการกำจัดตะกอนพิษในอนาคตด้วย อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-เมียนมา (Regional Border Committee : RBC) ครั้งที่ 37 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค. 68 ประเทศไทยได้เพียงแต่เสนอให้เมียนมาเจรจากับผู้รับสัมปทานเหมืองแร่ในการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การเจรจาครั้งนี้จึงเป็นเพียงข้อเสนอที่ไม่ได้มีการตอบสนองอย่างชัดเจนหรือมีรูปธรรมในพื้นที่
นางสาวมณีรัฐ กล่าวต่อว่าจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบหลายด้าน ด้านสังคม ประชาชนกว่า 55,000 ครัวเรือน ยังคงใช้น้ำประปาจากแหล่งน้ำปนเปื้อน ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ การประมงพื้นบ้านหยุดชะงัก ร้านอาหารขาดรายได้ ด้านการเกษตร พื้นที่เกษตรกรกว่า 1,000 ไร่ เสี่ยงต่อการมีผลผลิตที่ปนเปื้อน และด้านสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากขาดมาตรการเยียวยาและระบบตรวจสุขภาพที่ครอบคลุม ปัญหาวิกฤตแม่น้ำปนเปื้อนโลหะหนักจึงเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และควรมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงขอเสนอแนะมาตรการเชิงรุกไปยังรัฐบาล 3 ข้อเพื่อพิจารณา คือ 1.ปรับเปลี่ยนงบประมาณ หยุดโครงการฝายดักตะกอนทันทีและใช้งบประมาณกับศูนย์ตรวจสารพิษ ระบบเตือนภัย และการดูแลสุขภาพของประชาชน 2.การสนับสนุนเครื่องมือตรวจสอบ ควรสนับสนุนชุดทดสอบอย่างง่าย (test kit) ให้แก่ประชาชน เพื่อตรวจสารพิษได้ด้วยตนเอง และ 3.การยกระดับการเจรจา ควรจัดให้มีการเจรจาระดับพหุภาคีกับประเทศจีน ประเทศเมียนมา และกลุ่มว้า ผ่านเวทีการประชุม แม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation - MLC) และอาเซียนพร้อมทั้งยกระดับปัญหาสู่เวทีโลก เช่น การประชุม Conference of the Parties (COP) เป็นต้น
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง