นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอให้กับ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ “สภาผู้บริโภค” ว่า สภาผู้บริโภค เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน และช่วยเหลือประชาชนในการต่อสู้คดีความที่ดำเนินการเองได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2569 สภาผู้บริโภค ได้เสนอของบประมาณ จำนวน 377 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณเพียง 127 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 66 และน้อยกว่างบประมาณปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
นายพรชัย กล่าวด้วยว่า การลดงบประมาณครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค โดยจะสามารถรับเรื่องร้องเรียนได้เพียง 10,000 เรื่อง จากเดิมที่วางแผนไว้ 28,000 เรื่อง นอกจากนี้ รายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังระบุว่าทุก ๆ หนึ่งบาทที่สภาผู้บริโภคใช้ไป สามารถสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมได้ถึง 5.57 บาท ด้วยอัตราความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนกว่าร้อยละ 80 โดบตัวอย่างความสำเร็จของสภาผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหาสำคัญหลายกรณี อาทิ คดีที่ประชาชนถูกธนาคารฟ้องจากการถูกหลอกดูดเงินในบัตรเครดิต และกรณีปัญหาการทำสัญญาเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 126 คน นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้ผลักดันมาตรการ “เปิดก่อนจ่าย” และ “หน่วงเงินก่อนโอน” เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ และขยายเครือข่ายความช่วยเหลือประชาชนไปยัง 58 จังหวัด โดยมีแผนจะขยายให้ครบ 77 จังหวัดในปี 2569
นายพรชัย กล่าวด้วยว่า การตัดงบประมาณครั้งนี้ไม่ใช่การประหยัด แต่เป็นการบั่นทอนศักยภาพในการคุ้มครองประชาชน และหยุดยั้งการพัฒนาขององค์กรที่ต้องเติบโตให้ทันมิจฉาชีพ จึงขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้สอดคล้องกับภารกิจและประสิทธิภาพที่พิสูจน์แล้ว และพิจารณางบประมาณปี 2570 ให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขภัยคุกคามให้แก่ผู้บริโภค และสนับสนุนการทำงานเชิงรุกขององค์กรผู้บริโภค เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับประชาชน โดยอย่าปล่อยให้ “โล่ของประชาชน” ต้องเสื่อมประสิทธิภาพเพราะการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมดุล
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง