คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน” โดยมี กมธ. และคณะอนุ กมธ. ศึกษากฎหมายด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้แทนจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ผู้แทนจากกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะ กมธ. การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปัจจุบันระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และบริการดิจิทัลต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้การจัดระเบียบสายสื่อสารกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสายสื่อสารที่อยู่บนอากาศอาจส่งผลกระทบต่อความสวยงามของเมืองและความปลอดภัย แต่การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการจัดทำกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้ว ยังมีกรณีการลักลอบลากสายสัญญาณเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เอื้อต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) หลอกลวงคนไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเป็นการตั้งฐานส่งสัญญาณในประเทศไทย ดังนั้น กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ได้พิจารณาเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาข้อมูลสภาพปัญหาและแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสาร การนำสายสื่อสารลงใต้ดินและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนต้องสร้างความรู้และความเข้าใจของหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน โดย คณะกมธ. จะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากการสัมมนาในวันนี้มาประกอบการพิจารณาศึกษา เพื่อเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
นายประถมพงศ์ ศรีนวล ผู้แทนจาก กสทช. กล่าวอภิปรายเรื่อง “กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน” ว่า กสทช. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ตามมาตรา 39 สิทธิผู้รับใบอนุญาต กำหนดสิทธิให้ผู้รับอนุญาตปักเสาหรือสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอื่น ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ด้วย โดย กสทช. ได้ออกกฎหมายลำดับรองให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดระเบียบสายไม่ให้รกรุงรัง ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินนั้น ได้วางหลักไว้ให้วางท่อร้อยสายและจ่ายค่าตอบแทนให้กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เช่นกัน ทั้งนี้ กสทช. ได้จัดทำแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร พ.ศ.2567 แต่ความคืบหน้าของการนำสายไฟลงดินนั้นมีความคืบหน้าไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำที่สุด ในขณะที่การวางท่องร้อยสายมีต้นทุนสูงมากที่สุด ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.64 ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในเส้นทางหลักทั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมทั้งปรับปรุงระบบสายสื่อสารของผู้ประกอบกิจการให้มีสายสื่อสารปลายทางเพียงรายเดียว ทั้งนี้ การจัดระเบียบสายสื่อสารกลุ่มเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ วงเงิน 700 ล้านบาท สำหรับดำเนินงานในปี 2565-2566 ทั้งนี้ ตลาดโทรคมนาคมเป็นตลาดเสรี ผู้รับอนุญาตสามารถเดินสายสื่อสารไปในพื้นที่ที่ผู้รับบริการต้องการ ทำให้ต้นทุนในการเดินสายสูง ซึ่งมีปัญหาจากการวางผังเมืองไม่ดี ซึ่งเสาไฟฟ้าไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาแบกรับสายสื่อสาร ทำให้เป็นภาระกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ กสทช. แทนที่จะต้องเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล กลับต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาดำเนินการจัดการสายสื่อสาร ดังนั้น ตนมีข้อเสนอแนะให้มีหน่วยงานกลางเพื่อดูแลโครงสร้างพื้นฐานเพียงหน่วยเดียว และออกแบบให้สามารถแข่งขันกันได้ ซึ่งข้อดีของการเปิดเสรีทำให้ไทยมีอินเทอร์เนตความเร็วสูงในราคาถูกโดยที่รัฐไม่ต้องดำเนินการเอง นอกจากนี้ ควรให้สภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณ ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ด้วย ไม่ควรเป็นภาระของหน่วยงานปฏิบัติต้องดำเนินการเอง ขณะที่การจัดระเบียบสายลงท่อควรมีการบูรณาการข้อมูลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง