นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาธิการ กกต.) แถลงข่าวสรุปข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (นายก อบจ.) เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 อย่างไม่เป็นทางการ ว่า สำนักงาน กกต. ได้สรุปข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องก่อนรายงานต่อ กกต.ต่อไป โดยภาพรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 47 จังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็นร้อยละ 58.45 แบ่งเป็นบัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็นร้อยละ 87.23 บัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.69 บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็นร้อยละ 7.08 ขณะที่ ภาพรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบจ. จำนวน 76 จังหวัด ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,124,842 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็นร้อยละ 56.06 บัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็นร้อยละ 87.56 บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.63 บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.81
เลขาธิการ กกต. กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ลำพูน ร้อยละ 73.43 อันดับ 2 นครนายก ร้อยละ 73 อันดับ 3 พัทลุง ร้อยละ 72.56 อันดับ 4 นราธิวาส ร้อยละ 68.42 และอันดับ 5 มุกดาหาร ร้อยละ 68.03 ส่วนจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 พะเยา ร้อยละ 61.68 อันดับ 2 เลย ร้อยละ 58.04 อันดับ 3 เพชรบุรี ร้อยละ 57.44 อันดับ 4 ยโสธร ร้อยละ 56.72 และอันดับ 5 ชัยนาท ร้อยละ 56.63
นายแสวง กล่าวถึงจังหวัดที่ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ใหม่ จำนวน 4 เขตเลือกตั้ง ว่า มีสาเหตุจาก 2 กรณี คือ กรณีที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครมีลักษณะต้องห้าม อยู่ระหว่างการถูกจำกัดสิทธิ เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 (20) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 จำนวน 1 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และกรณีได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด จำนวน 3 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง และเขตเลือกตั้งที่ 4 อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
เลขาธิการ กกต. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ใน 4 จังหวัด ดังนี้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ ได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกต. www.ect.go.th หรือ แอปพลิเคชัน Smart Vote หรือสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริการสายด่วน 1444
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง