23 ม.ค.68 - สส.ภัทรพงษ์ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 – ไฟป่า ชี้ รัฐยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ด้าน รมช.กลาโหม แจง รัฐบาล ตั้งคณะกรรมการจัดการมลพิษทางอากาศ ร่วมบูรณาการแก้ปัญหาฝุ่นกับหลายกระทรวง ขณะการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ป้องกันผลกระทบภาคเศรษฐกิจ

image

            นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า หนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 คือ สาเหตุจากการเผา โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่เผาไหม้อยู่ทั้งหมด 11 ล้านไร่ แต่พอถึงปี 67 มีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นเป็น 19.5 ล้านไร่ โดยพื้นที่การเผาที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคการเกษตรและพื้นที่ สปก. ทั้งนี้ในวันที่รัฐบาลได้มาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตนได้เคยอภิปรายเสนอแนะแนวทางมาตรการพร้อมกรอบเวลาที่ชัดเจนในการจัดการป้องกันปัญหานี้ไปแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เห็นแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การบังคับใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่สามารถบังคับใช้ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากการเผาได้ทันที แต่กระทรวงพาณิชย์กลับออกประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษี โดยไม่มีการระบุพิกัดการเพาะปลูกของผู้นำเข้า ขณะที่การปิดโรงงานอ้อยและน้ำตาล ไม่ได้ใช้กฎหมายในการปิดโรงงานที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ แต่กลับนำกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ จนทำให้โรงงานที่ถูกปิดไปกลับมาเปิดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้เช่นเดิม จึงขอถามว่ารัฐบาลได้ดําเนินการมาตรการ อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการเผาจากภาคการเกษตรและไฟป่า พร้อมย้ำการแก้ปัญหาฝุ่น รัฐบาลต้องเข้าใจกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่รอให้ปัญหาเกิดแล้วมาแก้เมื่อจวนตัว

            ด้าน พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ชี้แจงว่า ในภาพรวมของการแก้ปัญหาขฝุ่น PM 2.5 และไฟป่า ในระดับรัฐบาลมีคณะกรรมการอํานวยการเพื่อการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยในห้วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงได้เตรียมมาตรการที่จะป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมการให้แจ้งเตือนประชาชน / กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบด้านยานพาหนะไม่ให้ปล่อยมลพิษออกมาโดยเฉพาะปัญหาควัน ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการแจ้งเตือนประชาชนห้ามการเผา ซึ่งพืชหลักที่เป็นสาเหตุของการเผา ได้แก่ ข้าวโพดและข้าว ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบเรื่องการเผาอ้อย โดยในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวง ได้ปฏิบัติการเจาะชั้นบรรยากาศ เพื่อระบายฝุ่นที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ กทม. มีทั้งการเจาะทั้งพื้นที่ชั้นในและรอบนอก และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดป้องกันการเผาป่าเพื่อประกอบอาชีพ /กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการงดซื้อผลผลิตที่เกิดจากการเผา และมาตรการการยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์จากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ของกระทรวงพลังงาน

                สำหรับมาตรการในป้องกันการเผาป่า รัฐบาลใช้แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่แทน ไม่ใช่การห้ามเผาทั้งหมด ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อเกษตรกรได้ โดยมีการปรับเปลี่ยนสนับสนุนการปลูกพืชมูลค่าสูง และส่งเสริมการใช้เศษวัสดุ ส่วนงบประมาณการดับไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ และจังหวัดเชียงใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณเช่นเดียวกัน สำหรับเกณฑ์การแจ้งเตือนดับไฟป่ากรมมลพิษได้ดำเนินการผ่าน Line alert เป็นประจำทุกวัน และร่างระเบียบการชดเชยดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อย กำลังเร่งรัดในการดำเนินการต่างๆ ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และรับฟังความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ให้กระทบบรรยากาศการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจของประเทศ

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

 

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ