นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงวาระการประชุมวิปรัฐบาล ในสัปดาห์นี้ ว่ามีการพิจารณาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งมี สส.ลงชื่อรออภิปรายไว้จำนวน 16 คน ถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จะทำให้การรับบริการจากภาครัฐมีความสะดวกมากขึ้นไม่ต้องใช้ระยะเวลารอนาน ตลอดจนร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ..... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เคยหาเสียงไว้ โดยจะถูกนำมาบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป
ต่อข้อถามว่าขณะนี้เป็นสัปดาห์เป็นสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้มีการกำชับ สส.ให้เข้าร่วมประชุมสภาอย่างไรบ้าง นายวิสุทธิ์ กล่าวว่าตนเองได้กำชับ สส.มาโดยตลอดทุกสัปดาห์ และให้ สส.เห็นความสำคัญกับการประชุมสภา เนื่องจากเป็นภารกิจหลัก และไม่ต้องการให้ลงพื้นที่หาเสียงในวันที่มีการประชุมสภา ทั้งนี้ขอฝากไปยังทุกพรรคการเมืองให้อยู่ในสภา โดยเฉพาะวันพุธซึ่งเป็นวันที่จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ส่วนข้อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ที่ฝ่ายค้านอาจตั้งคำถามถึงกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่เดินทางมาตอบกระทู้ถามต่อที่ประชุมสภา ระบุว่าเป็นเรื่องปกติขณะนี้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อใด และเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านจะตั้งถามนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนในทุกเรื่อง ตนเองมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ และนายกรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิมอบหมายรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงมาชี้แจงแทนได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ส่วนกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) จะยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถามนั้น มองว่าเป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่สามารถตรวจสอบได้ และกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาตอบกระทู้ถามไม่ใช่การด้อยค่าฝ่ายค้านแต่อย่างใด
นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ที่ ครม.เตรียมจะเสนอเข้ามาสู่สภา ซึ่งขณะนี้มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยและต้องการให้มีการทำประชามติ ระบุว่าเป็นธรรมดาที่จะเกิดขึ้นเพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้เนื่องจาก ครม.ยังไม่ส่งมายังฝ่ายนิติบัญญัติ ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะยื่นเข้าสู่สภาในอีกประมาณ 40 -50 วัน อาจจะมีหรือไม่มีการทำประชามติในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ เนื่องจากการทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และเรื่องดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นต่างและเห็นด้วย เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ตนเองจะได้ตรวจสอบต่อไปว่ามีข้อติดขัดตรงไหนอย่างไร
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง