พันตำรวจโท สุริยา บาราสัน ประธานอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาเรื่องร้องทุกข์กรณีนายจ้าง บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 859 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน โดยมีการเชิญตัวแทนลูกจ้างและนายจ้าง เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ บริษัท ยานภัณฑ์ฯ ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
ตัวแทนสหภาพแรงงานยานภัณฑ์ กล่าวว่า ตามที่นายจ้างเบี้ยวจ่ายเงินค่าชดเชยตั้งแต่งวดแรก สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัส บางส่วนต้องกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด บางส่วนปักหลักชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน บริเวณฟุตบาท เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยเบื้องต้น ได้รับเงินประกันการว่างงาน 180 วันแล้ว ส่วนการเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.7) อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเขียนครบทุกคน แต่ความต้องการที่แท้จริงที่อยากแจ้งต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ คือ การเร่งรัดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย
ด้านนายแล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ระบุว่า ฝ่ายลูกจ้างไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าสิทธิที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่เหตุใดนายจ้าง รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเหตุใดการบังคับใช้กฎหมายยังไร้ประสิทธิภาพ โดยตนเข้าใจดีว่า การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง มีกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์ แต่ควรจะตั้งอยู่บนความเป็นจริง ไม่ใช่ตั้งอยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็นของระบบราชการ เช่น หากถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน อาจจะต้องแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐ ก็แจ้งว่า ต้องเขียนคำร้อง คร.7 ให้แล้วเสร็จก่อน โดยมองว่าอาจจะดีสำหรับการบริหาร แต่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนบางกลุ่ม ซึ่งกระทรวงแรงงานจะทำอย่างไรให้ลูกจ้างได้สิทธิจากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ในฐานะลูกจ้างที่ไม่มีหลักประกันเลย
ขณะที่ตัวแทนกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ยืนยันให้กรอกคำร้อง คร.7 ให้เรียบร้อยก่อน เรื่องจึงจะเดินต่อไปได้ โดยเบื้องต้นมีการยื่นมาแล้ว 265 คน ซึ่งอยากให้ยื่นคำร้องและขึ้นทะเบียนว่างงานให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ เรียกร้องให้พิจารณาถึงความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และเสนอให้มีการแก้ไขระเบียบกองทุนเงินสงเคราะห์ ที่ปัจจุบันมีอัตราไล่ตามระดับอายุงานร้อยละ 30 50 และ 70 ของค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เปลี่ยนเป็นร้อยละ 30 50 และ 70 ของสิทธิตามกฎหมายแรงงาน ตามอัตราค่าชดเชยแรงงาน ตลอดจนคดีอาญาต่อนายจ้างควรมีการแก้ไขโทษให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุม เช่น การแก้ไขระเบียบกองทุนเงินสงเคราะห์ การบังคับคดี ที่จะได้มีการหารือในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป โดยเห็นว่ากรณีนี้จะเป็นตัวอย่างไม่ให้มีผู้เดือดร้อนแบบลูกจ้างของบริษัท ยานภัณฑ์ฯ อีกในอนาคต
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
เพจเฟซบุ๊ก สหภาพคนทำงาน Workers' Union ข้อมูล / ภาพ