14 ม.ค. 68 - สว.รัชนีกร ไม่เห็นด้วยตั้งบุคคลภายนอกเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ชี้สถานภาพ สส.-สว. เป็นเครื่องรับรองความรับผิดชอบ พร้อมยืนยันไม่ได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

image

          นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายต่อร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับฯ ที่ให้ยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐสภาในปัจจุบัน โดยเฉพาะหมวด 9 ข้อ 136 ด้วยเหตุที่ว่า ปัจจุบันสมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนในข้อ 13 เรื่องการนัดประชุมรัฐสภาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสภาพการณ์ปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการนัดประชุม ระเบียบวาระการประชุม การแปรญัตติ และเอกสารอื่น ๆ สามารถเผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับสมาชิกรัฐสภา
          ขณะที่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ในข้อ 79 (4) เรื่องกรรมาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่าร่างข้อบังคับฯ ใหม่ เหตุใดจึงตัดความข้อนี้ออก ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการเป็นกรรมาธิการ ทั้งจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หากไม่มีสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก โอกาสที่จะได้เป็นกรรมาธิการแทบจะไม่มีเลย และหากขาดสมาชิกภาพก็ควรจะพ้นสภาพไป จึงไม่เห็นด้วยกับการตัดความข้อนี้ออก ส่วนข้อ 123 เรื่องของการพิจารณาให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภาเข้ามาเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจริงอยู่ที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อสมาชิกจาก 2 สภา จะมาเป็นกรรมาธิการฯ นั้น ตนเห็นด้วย เพราะสถานภาพเป็นเครื่องรับรองและยืนยันว่าจะรับผิดชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยหากจะเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้ที่มีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ มาเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้บุคคลภายนอกมาเป็น 1 เสียงในกรรมาธิการฯ
          อย่างไรก็ตาม นางสาวรัชนีกร ยืนยันว่า การไม่เห็นด้วยที่จะให้บุคคลภายนอกมาเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสามารถทำได้หลายช่องทางตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การลงประชามติ การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ดังนั้น การจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการฯ หรือไม่นั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จะปิดช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ