นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณากรณีการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายหรือไม่ โดยเชิญ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าชี้แจงให้ข้อมูล
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในการพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยอมรับว่ามีเวลาคุยกันน้อยมาก เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ตนขอย้ำว่าคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนายทักษิณ แม้หน่วยงานจะโต้แย้ง ไม่เห็นด้วย แต่หน่วยงานไม่ได้มีอำนาจในการชี้อำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าการพิจารณาของกรรมาธิการฯ อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ ไม่ได้เป็นการใช้วิธีหรือรูปแบบที่แตกต่างจากการพิจารณาที่ผ่านมาแต่อย่างใด และจากการประชุมลับกับกรรมาธิการฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะยังคงเดินหน้าพิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลที่ได้รับทราบจากการชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในส่วนประเด็นการส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ ยังคงไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน แต่ได้ข้อมูลเพิ่มเติม จากเดิมที่ได้รับข้อมูลว่า การวินิจฉัยให้ส่งตัว นายทักษิณ ไปรักษาโรงพยาบาลตำรวจเป็นการวินิจฉัยจากพยาบาลหลังโทรศัพท์สอบถามแพทย์ ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติม ทราบว่าในช่วงเวลา 11.00 น. ของวันดังกล่าว แพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ทำการพิจารณาสุขภาพร่างกายของนายทักษิณ กระทั่ง ช่วงกลางคืน นายทักษิณมีอาการป่วย จึงได้ส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนประเด็นใบแสดงความเห็นของแพทย์ พบว่ามีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณหลายอย่าง ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับปากว่าจะส่งเอกสารเวชระเบียนของนายทักษิณให้กรรมาธิการฯ ตรวจสอบ ขณะที่ประเด็นการรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นห้องควบคุมพิเศษตามกฎหมายและระเบียบราชการหรือไม่ ข้อมูลที่ได้รับคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่เคยไปตรวจสอบว่าห้องดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ถูกต้องหรือไม่ โดยอ้างถึงข้าราชการที่ยืนยันว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ส่วนค่าใช้จ่ายการรักษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลว่านายทักษิณออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
ทั้งนี้ ภายหลังรับฟังข้อมูลการชี้แจง คณะกรรมาธิการฯ ได้หารือกันและได้ข้อสรุปว่าจะเดินทางไปติดตามเรื่องนี้ที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนวันและเวลาจะหารือกันอีกครั้ง เพื่อดูวันที่กรรมาธิการฯ สะดวกตรงกัน พร้อมย้ำสิ่งสำคัญ คือ กฎหมายที่มีการอ้างถึงในกรณีของนายทักษิณ ต้องตรวจสอบว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง