14 พ.ย. 67 – คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือขอแก้ปัญหาการทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าว - การต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวให้ทันตามมติ ครม. ก่อนวันที่ 13 ก.พ. 68

image

           นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายทวี สุระบาล กมธ.และที่ปรึกษากมธ. รับหนังสือจากกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว ขอให้ติดตามการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจากการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ บัตรชมพูของแรงงานต่างด้าว และการต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยนางนิลุบล พงษ์พยอม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว กล่าวว่าจากกรณีที่กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวได้ยื่นหนังสือเรื่องปัญหาและข้อกังวลในการทำบัตรสีชมพู และข้อเสนอต่อการแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี พ.ศ. 2567 ตามมติ ครม. ต่อ กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนเองได้เข้าไปให้ข้อมูลและแสดงถึงข้อกังวลต่าง ๆ ต่อที่ประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา แล้วนั้น โดยในประเด็นการจัดทำบัตรสีชมพูของแรงงานต่างด้าว ภายหลังจากได้มีการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุม กมธ. แล้ว พบว่าสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้สั่งการกำหนดแนวทางเรื่องดังกล่าวโดยให้สำนักบริหารการทะเบียนดำเนินการรับเอกสารที่ยื่นขอบัตรชมพูให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 หากไม่สามารถจัดทำบัตรสีชมพูให้ได้ทันตามกำหนดมติ ครม. ให้สำนักบริหารการทะเบียนจัดทำหนังสือขอเปิดระบบและบัญชีรายชื่อต่างด้าวภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินการจัดทำให้เสร็จตามเงื่อนไขของมติ ครม. อย่างไรก็ตามยังพบว่าขณะนี้บางศูนย์ทะเบียนภาคบางแห่งยังไม่ดำเนินการรับเอกสารจากแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำบัตรสีชมพูได้รับผลกระทบและหลุดออกจากระบบ ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานในกลุ่มแรงงานที่ใบอนุญาตจะหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ทำให้แรงงานไม่สามารถดำเนินการแจ้งเข้าระบบหรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่ได้ นอกจากนี้ประเด็นการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 ได้กำหนดให้ดำเนินการต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 กำหนดให้ดำเนินการต่ออายุแรงงานต่างด้าวในลักษณะ MOU โดยมีขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยเฉพาะการประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อออกเอกสารให้กับนายจ้างและนายจ้างเองประสบปัญหาและไม่สามารถดำเนินการเองได้เนื่องจากมีหลายจังหวัดที่น้ำท่วมและได้ยื่นข้อกังวลนี้ต่อ กมธ.แรงงาน ที่ผ่านมา อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานที่ผ่านมาแบบปกติ ปัจจุบันมีจำนวนแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ซึ่งเหลือระยะเวลาไม่ถึง 50 วัน โดยเฉพาะแรงงานเมียนมามีมากถึง 2 ล้านคน แต่จังหวัดที่รับลงทะเบียนมีเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นายจ้างจึงต้องเดินทางไปเซ็นสัญญา ทั้ง ๆ ที่นายจ้างไม่เคยทำ MOU มาก่อน เมื่อเป็นในลักษณะนี้มองว่าจะกระทบนายจ้างเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกใบอนุญาต การเดินทาง และอาจไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงขอให้ กมธ.พิจารณาแก้ไชเรื่องดังกล่าวด้วย

         นายเซีย กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า กมธ. ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กมธ. โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วยเพื่อหาทางออกต่อไป

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง  

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ