11 พ.ย. 67 – ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มองไทยต้องเตรียมพร้อมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ยกระดับค่าตอบแทน เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมพัฒนาสถาบันวิจัย ป้อนแรงงานได้ตรงจุด  

image

           นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวในรายการ Law talk กับ สว. ถึงความสำคัญของการมีกฎหมายสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะการยกระดับการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสิ่งที่พบปัจจุบันนี้คือนักเรียนไทยไม่ให้ความสนใจการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ เพราะมองว่าเรียนยากและเมื่อจบมาแล้วหางานยาก ขณะเดียวกันเมื่อได้งานแล้วกลับได้รับค่าตอบแทนไม่สูงมาก ไม่เหมือนกับการเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ทันตกรรม และเภสัชกรรม ซึ่งมีค่าตอบแทนที่สูงกว่า จึงส่งผลให้การพัฒนากำลังคนไม่สมดุล ขณะที่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นมีความจำเป็นในการเตรียมพื้นฐานกำลังคนเข้าสู่แรงงานทุกภาคส่วน ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ จึงหารือถึงแนวทางส่งเสริมให้นักเรียนที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เมื่อจบมาแล้วสามารถเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต โดยการปรับปรุงสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัวคล้ายกับเอกชน สามารถร่วมลงทุนกับเอกชนได้ เปิดโอกาสให้เอกชนให้ทุนสนับสนุนและวิจัยร่วมกัน รวมถึงแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันโดยมีหลักว่าผลประโยชน์ที่ได้ทั้งหมดต้องกลับคืนสู่ประเทศไทยและประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยเรื่องยา จะทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับยาที่สั่งมาจากต่างประเทศ และเมื่อมีการผลิตภายในประเทศ ย่อมสามารถควบคุมราคาได้ ส่งผลให้มียามีราคาถูกลงเข้าถึงประชาชน และมีคุณภาพเท่าเทียมมาตรฐานสากล แต่หากสั่งยาจากต่างประเทศเข้ามา จะต้องสูญเสียงบประมาณและไม่ได้พัฒนาวิชาการในด้านนี้เลย

         นายนิฟาริด กล่าวถึงข้อดีของร่างกฎหมายสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าเมื่อมีการเตรียมกำลังคนเข้าสู่ภาคแรงงานได้ตรงจุดแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือค่าตอบแทนในการทำงานภาควิจัยจะสูงขึ้นได้เมื่อสถาบันวิจัยมีความคล่องตัวและไม่ต้องพึ่งงบประมาณของภาครัฐเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้มีรายได้มากพอ สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ หากประเทศไทยแก้ปัญหานี้ได้จะถือเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด อย่างไรก็ตามมองว่าการให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีอาจช้าเกินไป ควรให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อจูงใจให้ผู้เรียนมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาจะสามารถเรียนต่อในสาขาที่เป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากนั้นให้ทุนจนถึงระดับสูงสุดถึงปริญญาเอก เพื่อกลับมาทำงานกับสถาบันวิจัย จะสอดคล้องกับการพัฒนาคนและไม่เกิดช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจเฟซบุ๊กวุฒิสภา 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ